วันนี้ (14 พ.ย. 62) เวลา 10.30 น. ที่บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ

นายแฉล้ม ทองเกลา ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ดำเนินการแถลงข่าวการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญ ดังนี้ 1) งานเฉลิมฉลอง 30 ปี อนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิเด็ก โดย นางสาวอรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) และ 2) การพัฒนาที่อยู่อาศัย “ชุมชนริมคลองเปรมประชากร” โดย นายธนัช นฤพรพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.

นางสาวอรพินท์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้กำหนดจัดงานเฉลิมฉลอง 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก CRC@30 and BEYOND “ความสำเร็จตลอด 30 ปี กับความท้าทาย ที่ต้องเผชิญ เพื่อก้าวเดินไปอย่างเข้มแข็ง” ระหว่างวันที่ 20 – 22 พ.ย. 62 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จของไทยต่อการดำเนินงานตามอนุสัญญาและทิศทางการพัฒนางานด้านสิทธิเด็ก 2) เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ของผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก 3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในงานสิทธิเด็ก และ 4) สร้างความตระหนักรู้และสร้างกระแสการรวมพลังเพื่อสิทธิเด็ก ซึ่งในวันที่ 21 พ.ย. 62 เวลา 14.00 – 15.00 น. มีพิธีเปิดงานและประกาศเกียรติคุณผู้มีคุณูปการต่องานสิทธิเด็ก จำนวน 30 รางวัล โดยกราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จเป็นประธานและพระราชทานโล่เกียรติคุณ นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย. 62 ยังมีการจัดประชุมสมัชชาสหวิชาชีพด้านเด็ก รวม 12 หัวข้อ + Best Practice 4 หัวข้อ 5 รูปแบบ แบ่งเป็น 1) การนำเสนอบทเรียนความสำเร็จ 4 เรื่อง (Best Practice) 2) การนำเสนอผลงานทางวิชาการ 2 เรื่อง (Symposium) 3) การนำเสนอผลงานโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 เรื่อง (Plenary Discussion) 4) การประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ในงานเฉพาะ 7 เรื่อง (Workshop) และ 5) การนำเสนอผลงาน
โดยผู้ปฏิบัติงาน (Poster Session) อีกทั้ง ระหว่างวันที่ 19 – 22 พ.ย. 62 ยังได้กำหนดจัดเวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ 30 ตอน “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 The Next Step for the child” เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อการประชุมสมัชชาสหวิชาชีพ โดยในวันที่ 19 พ.ย. 62 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานเวทีสิทธิเด็กครั้งที่ 30 พร้อม Kick off ให้สัญญาณการทำกิจกรรมในระดับจังหวัด ผ่านระบบการถ่ายทอดสด

นายธนัช กล่าวต่อไปว่า ด้วยรัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ โดยมีการดำเนินการในคลองลาดพร้าวแล้วนั้น ตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 โดยรัฐบาลมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลของน้ำในคลองเปรมประชากร และมอบหมายให้กระทรวง พม. โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร ขณะที่ประชาชนที่สร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองจะต้องรื้อย้ายบ้านออกจากคลองและแนวเขื่อน ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุรองรับชาวบ้าน 32 ชุมชน ในเขตจตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง และอีก 6 หมู่บ้านในพื้นที่ จ.ปทุมธานี รวมทั้งสิ้น 6,386 ครัวเรือน ทั้งนี้ ตลอดช่วงปี 2562 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเวทีประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากรครบทุกชุมชนเรียบร้อยแล้ว โดยชาวชุมชนส่วนใหญ่พร้อมเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาคลองเปรมประชากร ทั้งนี้ ในวันที่ 15 พ.ย. 62 ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ได้กำหนดจัดกิจกรรม “รื้อบ้านเดิม สร้างบ้านใหม่ คืนน้ำใสให้คลองเปรมฯ” เพื่อเปิดพื้นที่พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร ณ ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร จำนวน 197 หลัง โดยจะเริ่มรื้อย้ายบ้านชุดแรกจำนวน 17 หลัง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างชาวชุมชน สำนักงานเขตจตุจักร และกองทัพภาคที่ 1 และหลังจากนั้น ภายในเดือน ธ.ค. 62 จะเริ่มก่อสร้างบ้าน
ในเฟสแรกจำนวน 20 หลัง และทยอยก่อสร้างบ้านในเฟสต่อไปในช่วงต้นปี 2563

นายธนัช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร มีกรอบแนวคิดในการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมของเมือง เช่น การสร้างเขื่อนริมคลองเปรมประชากร อุโมงค์ระบายน้ำ ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย 2) ด้านการพัฒนาชุมชนริมคลอง ซึ่งมีเป้าหมาย การพัฒนาที่อยู่อาศัยของทุกครัวเรือนที่อยู่ริมคลอง 3) ด้านการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และ 4) ด้านกฎหมายและการขับเคลื่อนงาน มีระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2570 ซึ่งหลังจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จ จะมีการดำเนินการอีกหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับชุมชนและส่วนรวม อาทิ การขุดลอกคลองเพื่อให้ระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ การเชื่อมต่อระบบขนส่ง ล้อ-ราง-เรือ ในอนาคต รวมถึงการสนับสนุนชุมชนให้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องอาชีพและรายได้ โดยคาดว่าจะมีการจัดตลาดน้ำที่คลองเปรมประชากรในเร็วๆ นี้