การเคหะแห่งชาติมีภารกิจในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและครัวเรือนเปราะบาง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ล่าสุด โครงการบ้านเคหะสุขประชา เป็นอีก 1 โครงการที่อยู่อาศัยคุณภาพประเภทเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และครัวเรือนเปราะบาง ด้วยค่าช่าราคาถูกประมาณ 1,500 – 3,000 บาทต่อเดือน  พร้อมส่งเสริม “เศรษฐกิจสุขประชา” สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ นำร่องใน 2 พื้นที่ คือ ฉลองกรุง และร่มเกล้า รวม 572 หน่วย ได้เปิดให้ผู้มีสิทธิ์เช่าได้เข้ามาทำสัญญาเช่าในพื้นที่ร่มเกล้า ตั้งแต่วันที่ 16 – 19 ธันวาคม 2565 และพื้นที่ฉลองกรุงตั้งแต่วันที่ 22 – 25 ธันวาคม 2565

นายทวีพงษ์  วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ได้สิทธิ์เช่าในโครงการนี้มุ่งเป้าไปที่ครัวเรือนเปราะบาง ได้แก่ แม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนข้าราชการเกษียณ ข้าราชการชั้นผู้น้อย พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างของรัฐ และประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยการออกแบบบ้านโครงการฯ จะคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้ชีวิตในแต่ละกลุ่มคน โดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุ บ้านพักจะอยู่ชั้นที่ 1 ออกแบบโดยคำนึงถึงอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เช่น ทางลาดตั้งแต่ทางขึ้นอาคาร ทางลาดในห้องน้ำ ประตูแบบบานเลื่อน และราวจับ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้สูงอายุหรือคนพิการสามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบายและพึ่งพาตนเองได้   นอกจากบ้านที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยแล้ว หัวใจสำคัญของบ้านเคหะสุขประชา คือการสร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัย ภายใต้โมเดล “สร้างบ้านพร้อมอาชีพ” โดยพัฒนาพื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา” ตามความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย 6 รูปแบบ คือ เกษตรอินทรีย์, ปศุสัตว์, ตลาด,ศูนย์การค้าปลีกค้าส่ง, อาชีพบริการในชุมชนและชุมชนข้างเคียง และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก สำหรับเป็นพื้นที่ในการประกอบอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยในโครงการ เบื้องต้นใน 2 โครงการนำร่อง บ้านเคหะสุขประชา พื้นที่ฉลองกรุง จะจัดสรรพื้นที่เป็นตลาด ส่วนโครงการบ้านเคหะสุขประชา พื้นที่ร่มเกล้า จะจัดสรรพื้นที่เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566

ผู้เช่า “บ้านเคหะสุขประชา” ปลื้ม ได้บ้านใหม่พร้อมโอกาสสร้างอาชีพ ช่วยเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน ตอบโจทย์การอยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในวันทำสัญญาทั้ง 2 โครงการ การเคหะแห่งชาติ ได้จัดให้มีการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการสร้างอาชีพ โดย “ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา” ซี่งถือเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนี้ยังมีการอบรมความรู้ด้านต่างๆ ให้กับผู้เช่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มเติม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนในอนาคต

คุณประภาวรรณย์ เมฆประสาท หนึ่งในคนพิการที่ได้รับสิทธิ์เช่าบ้านเคหะสุขประชา พื้นที่ร่มเกล้า กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกมาอยู่ที่นี่เพราะถูกใจแบบบ้านที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับมนุษย์ล้อ มีทางลาดขึ้นลงเข้าสู่ตัวบ้าน จากเดิมที่อาศัยเป็นห้องชุด เวลาออกไปไหนต้องขึ้นลงลิฟท์ซึ่งค่อนข้างลำบาก ยิ่งไปกว่านั้นโครงการนี้ยังสามารถประกอบอาชีพอยู่ในนี้ได้เลย เพิ่มความสะดวกในการหารายได้เสริมให้กับครอบครัว ปัจจุบันงานค้าขายออนไลน์ อนาคตเมื่อมีคอมมูนิตี้เกิดขึ้น และมีการอมรมอาชีพจะยิ่งช่วยให้ค้าขายได้ง่ายขึ้น “บ้านที่นี่ตอบโจทย์มาก ดีใจมากที่ได้สิทธิ์เช่าโครงการนี้ ต้องขอขอบคุณ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการเคหะแห่งชาติ ที่ได้จัดทำโครงการดี ๆ แบบนี้ออกมาให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง ซึ่งออกแบบมาอย่างเข้าใจและเอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี” คุณประภาวรรณย์ กล่าว

อีกหนึ่งผู้ได้สิทธิ์เช่าอาศัยในบ้านเคหะสุขประชาพื้นที่ร่มเกล้า ครอบครัว คุณพิเชษฐ์ วิสิทธิ์ และ คุณลลินี จันเงิน กล่าวว่า เดิมอาศัยอยู่ในห้องเช่า ซึ่งมักมีปัญหาเรื่องพื้นที่จอดรถมีจำกัด การอยู่อาศัยค่อนข้างแออัด การได้มาอยู่ที่โครงการบ้านเคหะสุขประชาทำให้ครอบครัวได้บ้านเป็นหลักแหล่ง มีพื้นที่กว้างขวางขึ้น ทั้งได้อาชีพเสริม มองว่าโครงการนี้ช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย มีโอกาสที่จะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นบ้านหรือมีพื้นที่ส่วนตัว มีความโล่ง โปร่ง สบาย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ราคาเพิ่มจากที่เดิมอีกไม่เท่าไร แต่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายมากกว่า ทั้งสามารถรองรับญาติๆ สามารถมาพักอาศัยเวลาเดินทางมาเยี่ยมจากต่างจังหวัด ต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี และการเคหะแห่งชาติ ที่เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้น้อย มีโอกาสได้อยู่บ้านที่เป็นบ้าน ให้สิ่งแวดล้อมดีๆ และให้อาชีพเสริมกับคนที่มีรายได้น้อย หรือปานกลาง  “เรากำลังสร้างครอบครัว วางแผนจะเข้าอยู่ช่วงปีใหม่ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ของครอบครัว บ้านที่นี่ตอบโจทย์ทำให้ชีวิตดีขึ้น จากเดิมพักอาศัยอยู่ในห้องที่แออัด แต่ที่นี่ทุกอย่างเป็นสัดเป็นส่วน มีพื้นที่ให้ลูก ที่สำคัญคือโอกาสเรื่องอาชีพเสริม ปัจจุบันผมทำงานเป็นกุ๊ก ส่วนภรรยาทำงานในคลินิก จากนี้มองเรื่องการค้าขาย ถ้ามีโอกาสที่จะออกมาทำธุรกิจของตัวเอง หรือเปิดร้านในคอมมูนิตี้ที่จะเปิดในอนาคต” คุณพิเชษฐ์ และ คุณลลินี กล่าว

ผู้เช่า “บ้านเคหะสุขประชา” ปลื้ม ได้บ้านใหม่พร้อมโอกาสสร้างอาชีพ ช่วยเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน ตอบโจทย์การอยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งผู้เช่าที่มองหาเรื่องอาชีพเสริม และที่อยู่เป็นหลักแหล่ง คุณราชสีห์ เวียงแก้ว กล่าวว่า ปัจจุบันอาศัยอยู่กับคุณแม่ เป็นห้องเช่าแถวร่มเกล้า การได้สิทธิ์เช่าโครงการนี้ ช่วยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง มั่นคงยิ่งขึ้น มีความสะดวกสบายในการเดินทาง มากว่านั้นยังได้โอกาสในการสร้างอาชีพ จากปัจจุบันรับจ้างทั่วไป เป็นแม่ครัว พอมาอยู่ตรงนี้อยากได้การเสริมทักษะเรื่องการค้าขาย ช่วยเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้มากขึ้น  “โครงการนี้ตอบโจทย์ ทำให้เรามีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง และดวกสบายในการเดินทาง ทั้งได้รับทำอาชีพเสริม เหมือนได้ทั้งบ้านและอาชีพในคราวเดียวกัน รู้สึกดีใจที่ได้เข้ามาอยู่ที่นี่ เห็นโครงการนี้ในสื่อออนไลน์ทั่วไป ต้องขอบคุณที่มีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น” คุณราชสีห์ กล่าว

ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานก่อสร้างโครงการบ้านเคหะสุขประชา ตั้งเป้า 100,000 หน่วย จะใช้เวลาดำเนินงานภายในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 ไปจนถึงปี 2568 โดยมีเป้าหมายการก่อสร้างแบ่งเป็นปี 2565-2566 ปีละ 30,000 หน่วย และปี 2567-2568 ปีละ 20,000 หน่วย พร้อมกันนี้ยังมีการสร้างเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนาน ในมิติของ “มีบ้าน – มีอาชีพ – มีรายได้ – มีความสุข” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย ให้สามารถประกอบอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สันทนาการ พื้นที่จอดรถ รวมถึงพื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา” ตามความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่ พร้อมมุ่งส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในชุมชน รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจตามภูมิสังคมของพื้นที่นั้นๆ

“โครงการบ้านเคหะสุขประชา เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยลดภาระกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และครัวเรือนเปราะบาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งสภาพความเป็นอยู่และการส่งเสริมอาชีพได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว” นายทวีพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

—————————————————