กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดินเครื่องนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาด้านการตลาดออนไลน์ให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมเข้าสู่ระดับสากลและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในปัจจุบัน เพียง 6 เดือน เสริมความแกร่งด้านตลาดออนไลน์ให้ผู้ประกอบการ 4,000 ราย สามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 9 หมื่นราย ธุรกิจโตกว่า 380 ล้านบาท พร้อมพร้อมดันเอสเอ็มอีไทยสู่ตลาดอเมซอน เพื่อขยายช่องทางตลาดออนไลน์ หวังผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสู่ตลาดสากลในอนาคต

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ เห็นได้ชัดจากการจับจ่ายใช้สอยจากร้านค้าสู่ตลาดออนไลน์ ทำให้ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce เติบโต และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกจับตามองมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในการที่จะขยายช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีมีความทันสมัยและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถด้านการแข่งขันพร้อมเข้าสู่ระดับสากล ภายใต้ นโยบายการตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าต่าง ๆ เกิดความสมดุล พร้อมช่วยลดปัญหาการสต็อกสินค้าและสินค้าล้นตลาด ซึ่ง กสอ. มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการทำน้อยให้ได้มาก เปลี่ยนแนวคิดการผลิตจากเดิมที่หวังผลผลิตสูงสุดเป็นกำไรสูงสุด ผ่านโครงการ/กิจกรรม และการสร้างแพลทฟอร์มต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ได้แก่ การผลักดันสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ เช่น อาลีบาบา ลาซาด้า เป็นต้น กิจกรรมส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างแบรนด์สำหรับธุรกิจ อาทิ วิดีโอ อินฟลูเอนเซอร์การสอนถ่ายภาพเพื่ออีคอมเมิร์ซ การพัฒนาอีแคตตาล็อกบนเว็บไซต์เพื่อโปรโมทสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น การสนับสนุนการใช้บิ๊กดาต้า อาทิ ฐานข้อมูลเพื่อการจับคู่ธุรกิจบน T-Goodtech , J-Goodtech การให้ข้อมูลเรื่องเทรนด์ หรือ กระแสควาเปลี่ยนแปลงของตลาดทั้ง micro moment หรือ พฤติกรรมรายวัน รายเดือน รายหกเดือน ฯลฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้อย่างตรงจุด

“สำหรับที่ผ่านมา กสอ. ยังได้ดำเนินกิจกรรมการยกระดับ SMEs สู่ Global ด้วยการค้าออนไลน์ โดยการจัดอบรมการตลาดออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ภายใต้งบประมาณกว่า 13 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการทั้งหมด 4,000 ราย โดยให้องค์ความรู้ทั้งเรื่องการทำคอนเทนต์ การถ่ายคลิปวิดีโอ การจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพสินค้า และอื่น ๆ สำหรับการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นช่องทาง Facebook ,Instargram และ Line@ ให้ดูน่าสนใจ ซึ่งในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน ที่ผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจการ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์และปรับใช้จนสามารถทำให้ผู้ประกอบการมีลูกค้าเกิดใหม่รวม 90,000 ราย ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 380 ล้านบาท จากความสำเร็จดังกล่าว กสอ. จึงได้เดินหน้าจัดการอบรมการค้าออนไลน์อย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยจะเน้นผู้ประกอบการจากเมืองรองทั่วประเทศ จำนวน 1,000 ราย นอกจากนี้ ยังคัดเลือกผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จากการเข้าอบรมในรอบแรก จำนวน 500 ราย เข้าอบรมการขายบนแพลทฟอร์มต่าง ๆ เช่น Alibaba ,Amazon ,K Plus Market ,Lazada ,Shopee เป็นต้น”

นอกจากนี้ กสอ. ยังได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีศักยภาพความสามารถทางด้านการตลาดออนไลน์เพื่อร่วมผลักดันส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มไทยก้าวเข้าสู่การทำตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงาน เช่น AIS, Alibaba Business School และ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการจัดฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในหลักสูตร Alibaba Global Course รวมจำนวน 2,000 ราย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ในการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้มีช่องทางการตลาดขายสินค้าผ่าน Platform K–plus Market โดยได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นค่าธรรมเนียมในปีแรก และมีการฝึกอบรมผู้ประกอบการ SMEs ในเรื่องการขายออนไลน์ เป็นต้น และ กสอ. ยังมีแผนที่จะร่วมมือส่งเสริมการตลาดออนไลน์กับธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) เชื่อมสู่ตลาด Amazonโดยล่าสุดได้คัดเลือกผู้ประกอบการกว่า 100 ราย เข้าอบรมหลักสูตรการขายสินค้าออนไลน์บน Platform Amazon.com “Amazon’s JumpStart day 1 x SCB powered by DIP” เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้ซื้อมากกว่า 380 ล้านคน ซึ่งจะเริ่มอบรมในวันที่ 30 เมษายนนี้ นายกอบชัยกล่าว

ด้าน นางสาวชุติมา ศิริเชาวณิชการณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสทีเอส คอนซูเมอร์โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตสบู่มานานกว่า 70 ปี โดยที่ผ่านมารับผลิตสบู่เพียงอย่างเดียว (Original Equipment Manufacturer : OEM) มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท แต่เมื่อเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้รายได้ในปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 20 หรือ เหลือเพียง 80 ล้านบาท จึงหันมาทำแบรนด์ของตัวเองอย่างจริงจัง และเข้าร่วมโครงการยกระดับ SMEs สู่ Global ด้วยการค้าออนไลน์ กับ กสอ. จึงเห็นว่าการทำตลาดออนไลน์มีความสำคัญมากในการประกอบธุรกิจยุค 4.0 “ที่ผ่านมาเรารับผลิตเพียงอย่างเดียว แต่พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจก็ดี เจอการเปลี่ยนแปลงในยุคโซเชียลก็ดี เราไม่สามารถควบคุมคำสั่งซื้อจากลูกค้าได้ทำให้ยอดขายตก เราเลยต้องหาวิธีให้โรงงานอยู่รอด นั่นคือทำยังไงให้เรามีตัวตนและเป็นที่รู้จักโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ประกอบกับเป็นโอกาสดีที่เราได้เข้าร่วมโครงการฯ กับ กสอ. ที่สอนการทำตลาดออนไลน์ จากที่เราเคยต้องเสียเงินจ้างโปรดักส์ชั่นเฮ้าส์ในการทำคอนเทนส์ เราก็สามารถทำคลิปวิดีโอเองได้ง่าย ๆ เพื่อโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังจากเข้าร่วมโครงการฯ สามารถทำให้ยอดขายเฉพาะออนไลน์เราขยับขึ้นได้ถึงร้อยละ 5 และสามารถขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้ถึง 10 ประเทศแล้ว และตอนนี้เรากำลังจะขายบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบา ซึ่งก็เป็นความท้าทายและเป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเราเติบโตไปอีกขั้น” นางสาวชุติมา กล่าว