เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2562 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดการฝึกอบรม และชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดฝึกอบรมและปฏิบัติการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา รุ่นที่ 10 โดยมีนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ อาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา อาจารย์บังอร บัวเมือง เลขามูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ผู้แทนของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ผู้นำชุมชน และผู้เข้ารับการฝึกอบรม กว่า 140 คน เข้าร่วม จากนั้น ในเวลา 13.00 น. ลงพื้นที่ปฎิบัติการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาร่วมกับผู้เข้ารับการอบรม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลวังใหม่ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี


อธิบดี สถ. กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ดำเนินโครงการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยด้วยสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาโดยชุมชนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยด้วยสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และขยายผลไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. หรือผู้ที่สนใจ โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานตามโครงการ จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มศูนย์ฝึกอบรม จำนวน 12 อปท. ใน 12 จังหวัด และ 2. กลุ่มศูนย์ต้นแบบประจำจังหวัด จำนวน 76 จังหวัดๆ ละ 1 ศูนย์

การจัดกิจกรรมฝึกอบรมและปฏิบัติการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในวันนี้ จะเป็นการถ่ายทอดความรู้แนวทางในการสร้างสนามเด็กเล่น ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และท่านอาจารย์บังอร บัวเมือง เลขามูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มาเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้และนำฝึกปฏิบัติสร้างสนามเด็กเล่น มีการฝึกอบรม จำนวน 2 วัน เพื่อให้บุคลากรของ อปท. ที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการ และบุคลากรของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด มีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการ วิธีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และแนวทางการบริหารจัดการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อสามารถนำไปดำเนินการในพื้นที่ของตนเอง และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่สนใจต่อไป

กรมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การอบรมในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมดังกล่าว เพื่อให้ อปท. สามารถนำความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้ ไปดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในพื้นที่ของตนเองได้อย่างถูกต้องตามแนวทางของมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และร่วมกันพัฒนาเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีพัฒนาการสมบูรณ์ทุกด้านผ่านการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ซึ่งกรมฯ ต้องขอขอบคุณ ท่านสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ท่านอาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ท่านอาจารย์บังอร บัวเมือง เลขามูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ผู้บริหาร อปท. ผู้นำชุมชน ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันดำเนินโครงการดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เพราะเด็กต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์เสริม ให้ได้เกิดการพัฒนา IQ ให้ครบทั้ง 4 ด้าน นั่นคือ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมจากการเล่น เพราะการเล่นจะเสริมสร้างสมาธิให้แก่เด็ก เกิดความสามัคคีกัน ให้เด็กมีสังคมแห่งมิตรภาพ มีความเป็นจิตอาสา และจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่ดี และในปี 2563 กรมฯ ก็ได้เสนอของบประมาณในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเพิ่มขึ้น จากแห่งละ 100,000 บาท เป็นแห่งละ 170,000 บาท โดยกำหนดเป็น KPI ของกรมฯ ในเรื่องสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา นั้นคือ ขอให้ทุก อปท. มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา อย่างน้อย อปท.ละ 1 แห่ง ซึ่งอาจจะสร้างในพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. ใจกลางชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะ

ก็ขอให้มาร่วมส่งเสริมให้เกิดความรัก ความสามัคคีให้ทุกคนในสังคม ร่วมกันสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ใช้กลไกของทุกคนในท้องถิ่นมาเป็นพลังขับเคลื่อนสิ่งที่ดีให้กับลูกหลานของเรา เพราะพลังของการขับเคลื่อนเหล่านั้น จะสามารถเป็นแรงหนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ขยายวงของการพัฒนาการศึกษาของให้มีความยั่งยืนและกว้างไกลต่อไป และให้ร่วมกันสร้างนิสัยให้เด็กรักสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ส่งเสริมให้เด็กรู้จักการคัดแยกขยะ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการในเรื่องการทำถังขยะอินทรีย์ หรือถังขยะเปียกในครัวเรือน ซึ่งตรงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงเรื่องของถนนสะอาด ที่กรมฯ ขอให้ อปท.ทำถนนให้สวยงาม ตามโครงการ “1 อปท. 1 ถนน ท้องถิ่นใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นโครงการที่กรมฯ จัดขึ้น โดยให้ อปท. ทั่วประเทศสำรวจ และคัดเลือกถนนที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบ จำนวนอย่างน้อย 1 สายทางมาพัฒนา ปรับปรุงให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงาม เช่นปลูกไม้ยืนต้น หรือไม้ดอก ไม้ประดับอื่นๆ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ดูร่มรื่น และสวยงามทั้งสองข้างถนน ปรับปรุงทิวทัศน์สองข้างทางให้สะอาด และสะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชุมชน หรือเอกลักษณ์ของชุมชน อธิบดี สถ. กล่าวฝากในตอนท้าย