วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564 เวลา 13.30 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยสถานสงเคราะห์เด็กชายยะลา กับผลงาน “ต้นแบบการพัฒนาเด็กพิเศษ ELS Model (Empowerment of Life Skills) ” ได้รับรางวัลเลิศรัฐประจำปี พ.ศ. 2564 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานภาครัฐที่มีความโดดเด่นในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จและมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงาน ภาครัฐทั้งปวง สามารถพัฒนาคุณภาพการบริการ และระบบการบริหารงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วโปร่งใส เป็นธรรม และพึงพอใจให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการบริหารราชการให้มีระบบหรือวิธีการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จนเกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วนและความร่วมมือ ตลอดจนพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า สถานสงเคราะห์เด็กชายยะลา จังหวัดยะลา ได้ดำเนินการให้บริการเด็กและเยาวชนชายที่มีอายุระหว่าง 7 – 18 ปี ตามภารกิจการให้บริการ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการปรับรูปแบบการให้บริการสวัสดิการสังคมให้ตรงกับสภาพปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย จากแนวคิดที่ว่า “คนทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้” ซึ่งรูปแบบการจัดกิจกรรมมาจากแนวคิดมอนเตสซอรี่ (Montessori) โดยกำหนด 10 ขั้นบันได ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า ELS Model (Empowerment of Life Skills) สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้รับการพัฒนาตนเองตามศักยภาพ ไม่สูญเสียโอกาส อีกทั้งไม่เป็นการเพิ่มปมปัญหาภายในใจของกลุ่มเป้าหมาย สามารถลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

นางสุภัชชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ ฯ ได้รับจากโครงการ “ต้นแบบการพัฒนาเด็กพิเศษ ELS Model” มีดังนี้ 1. เด็กกลุ่มพิเศษไม่ต้องถูกส่งไปยังหน่วยงานอื่น และได้รับบริการตามคุณลักษณะที่เป็น 2. เด็กได้รับการยอมรับจากสถานศึกษา และได้กลับเข้าไปเรียนตามปกติ 3. เด็กแสดงพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของสังคม 4. เด็กเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง 5. เด็กได้รับการพัฒนาตนเองอย่างสูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของแต่ละคน มีทักษะการประกอบอาชีพ 6. ลดผลกระทบทางด้านจิตใจ จากการส่งต่อไปยังสถานรองรับอื่น 7. เด็กสามารถพึ่งพาตนเองได้เมื่อกลับคืนสู่สังคมนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน

“ต้นแบบการพัฒนาเด็กพิเศษ ELS Model” สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติ ในมิติสังคม เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีข้อมูลยืนยันจากทั่วโลกว่า การศึกษานั้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน และรูปแบบการศึกษาของไทยนั้นมีด้วยกัน 3 แบบ กล่าวคือ 1) การศึกษาในระบบ 2) การศึกษานอกระบบ และ 3) การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ตามศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่น ๆ การจัดรูปแบบการศึกษาแต่ละแบบนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพแวดล้อม บริบทของสังคมแต่ละพื้นที่ โดยหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ให้ความสำคัญและสนับสนุนในคนทุกคนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้พื้นฐานข้อจำกัดของแต่ละคน จึงถือได้ว่ารูปแบบการจัดบริการสวัสดิการสังคม ELS Model เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย อีกทางเลือกหนึ่งของเด็กทุกคนในสถานรองรับ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต

กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยสถานสงเคราะห์เด็กชายยะลา มีแนวคิดวางแผนขยายผลรูปแบบของการบริการไปยังหน่วยงานอื่น โดยเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสถานรองรับอื่น ๆ เพื่อลดปัญหาการส่งต่อเด็กในความอุปการะไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กสูงสุด โดยคำนึงถึงเด็กเป็นศูนย์กลางของการจัดบริการ การเตรียมความพร้อมครอบครัว ชุมชน ให้เกิดความเข้าใจถึงคุณลักษณะของเด็ก เพื่อสนับสนุนส่งเสริมเด็กให้มีที่ยืนในสังคม เมื่อเด็กกลับคืนสู่สังคม นางสุภัชชา กล่าวทิ้งท้าย