SCB CIO ชูกลยุทธ์ลงทุนในช่วงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2022 -2023 ประกอบกับเงินเฟ้อที่ยังสูงและ ชะลอลงค่อนข้างช้าแนะนักลงทุนถือเงินสดหรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ประเภทคุ้มครองเงินต้น ประมาณ 5 -15% ของพอร์ต   พร้อมทยอยสะสมหุ้นกู้คุณภาพดี  ส่วนการลงทุนในหุ้นยังมีความผันผวนสูง แนะทยอยลงทุนหลังเฟดส่งสัญญาณขี้นดอกเบี้ยช้าลง

ดร. กำพล  อดิเรกสมบัติ  ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office  (SCB CIO )    ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า  อัตราดอกเบี้ยยังเป็นช่วงขาขึ้นและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในช่วงปี  2022 -2023 จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและชะลอลงค่อนข้างช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ และมีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย   ทำให้ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนสูง จึงแนะนำเน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงและชะลอลงอย่างช้าๆ เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด ลดลงค่อนข้างช้าจากปัจจัยอุปทานที่ยังโตไม่ทันปัจจัยอุปสงค์ โดยเฉพาะในภาคบริการ  ในช่วงไตรมาส 4/2022 ต่อเนื่องถึงปี 2023 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่แม้จะชะลอตัวลงแต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางหลัก ทำให้ธนาคารกลางส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและคงไว้ในระดับสูง (Higher for longer) จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมาย จึงทำให้เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนจากเร็วและแรงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น (gradual and data dependent rate hikes) โดย SCB CIO คาดว่า  สิ้นปี 2022-2023   อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะอยู่ที่ 4.5%  และ 4.75%  ตามลำดับ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยจะอยู่ที่ 1.25% และ 1.75%     ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากภาวะอัตราเงินเฟ้อที่สูงยืดเยื้อ และการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2022-2023 พร้อมกับมีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในยุโรปที่ต้องเผชิญวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อและเงินยูโรที่อ่อนค่า  ส่วนความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯยังคงมีอยู่  แม้ตลาดแรงงานและงบดุลของภาคเอกชน ยังคงแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครั้งที่ผ่านมา  สะท้อนว่าหากเกิดขึ้นน่าจะเป็นลักษณะที่ไม่รุนแรง ( mild recession)    ด้านประเทศในแถบอาเซียน โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยังมีโอกาสไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับยุโรปและสหรัฐ เนื่องจากอานิสงค์การเปิดเมืองเปิดประเทศและการขยับขึ้นดอกเบี้ยส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป  

ส่วนฐานะการคลังและเสถียรภาพด้านต่างประเทศจะถูกจับตามมองมากขึ้น แต่ต้องพิจารณาเป็นรายประเทศ การใช้มาตรการช่วยเหลือเพื่อลดค่าครองชีพที่ใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้การขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะที่สูงอยู่แล้วหลังวิกฤต COVID-19 เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ การเร่งตัวของมูลค่าการนำเข้าพลังงาน  การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด    การลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และค่าเงิน US dollar ทำให้เกิดความกังวลในเสถียรภาพด้านต่างประเทศ  โดยในประเด็นเหล่านี้ ต้องพิจารณาเป็นรายประเทศ  ซึ่งคาดว่ากลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงด้านนี้สูง ได้แก่ กรีซ และตุรกี  ส่วนของไทยแม้จะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2021-2022 แต่หลังจากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเริ่มฟื้นตัวได้ ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะกลับมาเกินดุลได้ในปี 2023

ดร. กำพล กล่าวต่อไปว่า  ตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวนค่อนข้างสูง จากอัตราดอกเบี้ยและภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น    SCB CIO จึงเน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆดังนี้

1) ในภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยและภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น เราแนะนำให้มีเงินสดหรือผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ (คุ้มครองเงินต้น) 5-15% ของพอร์ต

2) การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (ราคาลดลง) เป็นโอกาสสำหรับลูกค้าที่ต้องการสร้างกระแสเงินสดในพอร์ต โดยเน้นทยอยสะสมหุ้นกู้คุณภาพดีเพื่อหลีกเลี่ยงการเร่งตัวของ spread ในช่วงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น

3) เรามีมุมมองโดยรวมเป็น Neutral ต่อหุ้น โดยทยอยสะสมหุ้นบริษัทที่มีการเติบโตยั่งยืนและอัตรากำไรสูง ในประเทศที่ได้อานิสงค์จากการเปิดเมืองเปิดประเทศ และการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานของโลก  เช่น ตลาดหุ้นไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย หรือประเทศที่มีการเติบโตของค่าจ้างแรงงาน  เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเริ่มทยอยสะสมหลังเฟด ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช้าลง

4) เพื่อเป็นการจัดการความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงที่ยืดเยี้อ เรายังคงแนะให้มีสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันในสัดส่วน 5% ของพอร์ต

5) ลดความผันผวนของพอร์ตด้วยผลิตภัณฑ์สินทรัพย์ทางเลือก เช่น KIKO (สำหรับลูกค้า HNW และ UHNW) และ Private Assets (เฉพาะสำหรับลูกค้า UHNW)