กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (“กองทุนฯ” หรือ “DIF”) จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุน DIF วันที่ 21 มิ.ย.นี้ เพื่อเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่4 ในกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของกลุ่มทรู มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,800 ล้านบาท ขยายทรัพย์สินครอบคลุมทั่วประเทศและเพิ่มโอกาสสร้างรายได้จากการให้เช่าเสาโทรคมนาคมและใยแก้วนำแสง รองรับความต้องการใช้สมาร์ทโฟน ระบบอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์ที่กำลังขยายตัว มั่นใจผู้ถือหน่วยลงทุนให้การสนับสนุน

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ Digital Telecommunications Infrastructure Fund (DIF) เปิดเผยว่า กองทุน DIF เตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ เพื่อขออนุมัติเข้าลงทุนกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จากกลุ่มทรู มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,800 ล้านบาท

“การประชุมวิสามัญครั้งนี้ มั่นใจว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุน DIF ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมดังกล่าว เนื่องจากการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่4 จะเป็นการเพิ่มขนาดทรัพย์ของกองทุนฯ และโอกาสที่กองทุนฯ จะสร้างรายได้จากการให้เช่าเสาโทรคมนาคมและใยแก้วนำแสงเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานสมาร์ทโฟน การใช้บริการอินเทอร์เน็ตและระบบบรอดแบนด์ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในยุคดิจิทัลและยุค 5G ในอนาคต เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ตลอดจนช่วยลดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ซ้ำซ้อน” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

การลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ประกอบด้วย

  1. การลงทุนในกรรมสิทธิ์เสาโทรคมนาคมรวม788 เสา แบ่งเป็นเสาที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน 749 เสา และเสาที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้า จำนวนประมาณ 39 เสา โดยเสาดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นไม่เกิน 1 ปี
  2. ลงทุนในกรรมสิทธิ์ใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cableหรือ FOC) สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 1,795กิโลเมตร (ประมาณ 107,694 คอร์กิโลเมตร) ซึ่งปัจจุบันใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ต่างจังหวัด
  3. ลงทุนในกรรมสิทธิ์FOC ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดรวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร (ประมาณ 40,823 คอร์กิโลเมตร) และประมาณ 3,414 กิโลเมตร (ประมาณ 147,209 คอร์กิโลเมตร) ตามลำดับ

ส่วนแหล่งเงินที่ใช้ลงทุนเพิ่มเติม จะมาจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนทั้งจำนวน โดยกองทุน DIF จะเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนจํานวนรวมไม่เกิน 10,500,000,000 บาท จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียน 96,379,430,540 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หน่วยละ 10 บาท เป็นทุนจดทะเบียนไม่เกิน 106,879,430,540 บาท โดยจะออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ไม่เกิน 1,050 ล้านหน่วย แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะประกาศเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ ภายหลังกองทุน DIF เข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะทำให้ประมาณการเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุน (Cash Distribution Per Unit หรือ DPU) ไม่ต่ำกว่าประมาณการเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรของกองทุน ในกรณีที่กองทุนไม่ได้เข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 4 สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563 ซึ่งจัดเตรียมโดยบริษัทจัดการ ตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต อยู่ที่ 1.044 บาทต่อหน่วย

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจากเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุน โดยให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาล แต่มีความผันผวนต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น นอกจากนี้ การลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ยังช่วยเสริมสภาพคล่องการซื้อขายหน่วยลงทุนและโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีอีกด้วย

ขณะที่ผลการดำเนินงานกองทุน DIF ย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2559 – 2561) สามารถจ่ายเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนแก่ผู้ถือหน่วยอย่างสม่ำเสมอ รวมต่อปีในอัตรา 0.956, 0.975 และ 1.016 บาทต่อหน่วยตามลำดับ โดยคาดว่าภายหลังเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 กองทุน DIF จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ลงทุนเพิ่มเติม โดยมีกลุ่มทรูเป็น
ผู้เช่าหลัก ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ