ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนทุนการศึกษาและทุนวิจัยแก่สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารเทศ (IST) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ประจำปี 2565 รวมเป็นเงิน 30 ล้านบาท แบ่งเป็น ทุนการศึกษาให้แก่นิสิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จำนวน 10 ทุน เป็นเงิน 20 ล้านบาท และทุนสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย สำหรับความร่วมมือระหว่างสำนักวิชาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นเงิน 10 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นรูปแบบใหม่และก้าวสู่มาตรฐานชั้นนำระดับโลก สร้างบุคลากรให้เป็นผู้นำด้านงานวิจัยทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอัตโนมัติขั้นสูง สร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมนานาประเทศได้ ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ VISTEC ในการเป็น World-class frontier research institute โดยมี ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร (กลาง) นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นประธานในพิธี และคุณกฤษณ์ จันทโนทก (ที่ 6 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ มอบให้แก่ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล (ที่ 4 จากซ้าย) อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่

การสนับสนุนทุนการศึกษาและทุนโครงงานวิจัยแก่สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารเทศ (IST) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เป็นโครงการต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ธนาคารฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดตั้งสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่จังหวัดระยองมาตั้งแต่ปี 2559 โดยสนับสนุนงบประมาณเป็นจำนวนเงิน 450 ล้านบาท ในระหว่างปี 2560-2564 (ระยะที่ 1) ในการจัดตั้งสำนักวิชา ทุนการศึกษา และความร่วมมือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ด้วยตระหนักดีว่าการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นพลังสำคัญต่อการขับเคลื่อนอนาคตและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวแก่ประเทศไทย ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น เน้นการวิจัยที่จะทำให้เป็นผู้รู้จริง และรู้จักแก้ไขปัญหา รวมถึงสร้างแนวคิด องค์ความรู้ และนวัตกรรม   ต่าง ๆ  และในครั้งนี้ได้สนับสนุนทุนการศึกษาและทุนวิจัย ในระยะที่ 2 ระหว่างปี 2565-2569 รวมเป็นเงิน 150 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายปีละ 30 ล้านบาท

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สำนักวิชาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนในปี 2564 กว่า 40 ผลงาน ซึ่งล้วนเป็นผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและมวลมนุษยชาติ