นับเป็นหนึ่งในทรัพยากรบุคคลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำหรับผู้บริหารหญิงยุคใหม่

“โสพิญฐ์ สุวรรณหงส์” หรือเรียกติดปากกันว่า “ผอ.โส” อดีตผู้อำนวยการกลุ่มสื่อสารองค์กร กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ที่ล่าสุดได้รับการโยกย้ายให้เดินทางไปรับตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นอย่าง “ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองบางระกำ จ.พิษณุโลก” กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) สังกัด พม. เช่นกัน
ช่วงที่เป็น ผอ.โส นับว่า เป็นผู้ที่ทำให้ข่าวของกรม สค. ได้รับการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายนอกองค์กร ด้วยการผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ด้วยความที่ข่าวครบเครื่องจนเป็นต้นแบบให้กับกรมอื่น ๆ ใน พม. และอีกทั้งมีความเป็นกันเอง ทำให้กลายเป็น “มือประสานสื่อสิบทิศ” และ “ขวัญใจของคนในองค์การและสื่อมวลชน”
เธอเคยพูดคุยกับสื่อมวลชนว่า การทำงานในยุคนี้ต้องทำงานในเชิงรุก ถูกต้อง รวดเร็ว และสร้างสรรค์ เนื่องจากเราอยู่ในสังคมโลกโซเชี่ยลมิเดีย สื่อมีความรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันเราต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น

โดยเฉพาะท่านเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ผู้บังคับบัญชาสายตรง ที่ท่านมีความเมตตา ให้โอกาส และเปิดใจกว้างกับผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน การเดินทางไปรับตำแหน่งท่านได้ให้แนวทางและข้อคิดในการทำงานให้เกิดประสิทธิผล นอกจากนี้ยังมีเพื่อนร่วมงานและทีมงาน ที่เราต้องทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันการประสานงานภายนอกองค์กรกับหลาย ๆ ฝ่ายก็เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดสัมฤทธิผลในโครงการหรือกิจกรรมนั้น ๆ
สำหรับการเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ “ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองบางระกำ จ.พิษณุโลก” ที่มีความรับผิดชอบในเนื้อหามากขึ้นและแตกต่างจากงานเดิม ซึ่งโดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
๑. เพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฎรกลุ่มเป้าหมายอพยพครอบครัวเข้าไปตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพและอยู่อาศัยในนิคมสร้างตนเองอย่างเป็นระเบียบและถาวร พร้อมทั้งส่งเสริมให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นเป็นของตนเองและเป็นมรดกตกทอดไปสู่ลูกหลาน
๒. เพื่อพัฒนานิคมสร้างตนเองในด้านต่างๆให้สมาชิกนิคมมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถช่วยเหลือตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้

๓. เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในลักษณะโครงการพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง

ข้อมูลเพิ่มเติม
ประวัติการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
งานนิคมสร้างตนเองเป็นงานจัดสวัสดิการสังคมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินการมาพร้อมกับการก่อตั้งกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในปัจจุบัน) โดย ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มีแนวคิดที่จะนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือคนยากจนให้มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในลักษณะชุมชนที่เป็นระเบียบ พัฒนาให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้วให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น ชุมชนที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า “นิคมสร้างตนเอง” และราษฎรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเรียกว่า “สมาชิกนิคม” นิคมสร้างตนเองแห่งแรกที่ได้รับจัดตั้งขึ้นคือ “นิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี”
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพขึ้น เพื่อให้กรมประชา สงเคราะห์ได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และครั้งสุดท้ายได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๔๘๕ และ พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยใช้พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ มาจนถึงปัจจุบัน
การจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในระยะแรกมีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อช่วยเหลือราษฎรยากจนที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน และเพื่อแก้ไขปัญหาการอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองจนเกิดปัญหาสังคมเมือง แต่หลังจากได้มีการรปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจซึ่งปรากฎรูปแบบชัดเจน เมื่อมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับ ที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๐๙) เป็นต้นมา การจัดนิคมสร้างตนเองได้ถูกนำมาใช้เป็นกลไกหรือเครื่องมือของรัฐในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองและความมั่นคงของชาติ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกในการเข้าพัฒนาชนบท และแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน

การมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการแก้ไขตามมาหลายประการ เช่น การอพยพราษฎรเขตน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน ปัญหาความมั่นคงในเขตพื้นที่กองทัพภาคต่าง ๆ และปัญหาชนกลุ่มน้อยในเขตชานแดนภาคใต้ เป็นต้น นอกจากนี้การมุ่งที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ตามเป้าหมาย จำเป็นต้องอาศัยหน่วยผลิตขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกลไกสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา คือ “งานนิคมสร้างตนเอง”
การจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
มีการดำเนินงานและวิธีการดังนี้


๑. การสำรวจและเลือกที่ดิน
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง หรือคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นในท้องที่ใด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะต้องขอความร่วมมือ กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเพื่อตั้งคณะกรรมการสำรวจและเลือกที่ดินที่จะกำหนดในการตั้งนิคมฯเพื่อให้ทราบข้อมูลต่างๆ โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่า ที่ดินที่จะจัดตั้งนิคมสร้างตนเองต้องมีเนื้อที่อย่างต่ำ ๕,๐๐๐ ไร่ บริเวณที่ดินจะต้องมีอาณาเขตติดต่อหรือย่านชุมชนเพียงใด (หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด) ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในบริเวณที่ดินมีแหล่งน้ำตลอดปีหรือไม่ เกิดภัยธรรมชาติหรือไม่ เป็นต้น
๒. จัดทำโครงการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะจัดทำโครงการเสนอหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องพิจารณาโครงการประกอบด้วย แผนผังการจัดที่ดิน หลักเกณฑ์การจัดที่ดิน วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
๓. การจำแนกประเภทที่ดิน
ข้อมูลที่ได้คณะกรรมการสำรวจและเลือกที่ดินจะนำเสนอคณะอนุกรรมการจำแนกประเภทที่ดิน พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วนำเสนอคณะกรรมการจำแนกประเภทที่ดินพิจารณาว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับการเกษตรพื้นที่ส่วนใดควรกำหนดเป็นเขตพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ป่าและความชุ่มชื้นของดิน(ป่าไม้ส่วนกลาง๒๐%) แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติจำแนกออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แล้วเสนอคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการนำพื้นที่ไปดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
๔. การขอใช้พื้นที่จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะต้องขออนุญาตใช้ที่ดินต่อหน่วยราชการที่เป็นผู้มีอำนาจดูแลที่ดินนั้น เพื่อให้คณะเจ้าหน้าที่นิคมสร้างตนเองเข้าไปดำเนินการสำรวจรังวัด จัดทำแผนที่ และดำเนินงานในเบื้องต้นในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกพระราชกฤษฎีกา
ประเภทของนิคมสร้างตนเอง
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้รับมอบให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองในรูปแบบและลักษณะต่างๆ จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น ๕๙ นิคม ใน ๔๑ จังหวัด แต่ปัจจุบันคงเหลือนิคมสร้างตนเองที่อยู่ในความรับผิดชอบ ๔๔ นิคม ใน ๓๕ จังหวัด จำแนกออกได้เป็น ๕ ประเภท คือ
๑. นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลือราษฎรโดยทั่วไป
จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาราษฎรไม่มีที่ดินทำกินและยากจน เช่น ราษฎรจากแหล่งเสื่อมโทรม ราษฎรที่ถูกทางราชการสั่งยกเลิกอาชีพ ราษฎรที่ถูกขับไล่จากการใช้ที่ดินของทางราชการ เป็นต้น นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน ๑๕ นิคม ใน ๑๔ จังหวัด
๒.นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลืออพยพราษฎรจากเขตน้ำท่วม
จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนชลประทาน เขื่อนพลังงานไฟฟ้า และเขื่อนเอนกประสงค์ทุกแห่ง นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน ๑๑ นิคม ใน ๑๑ จังหวัด
๓. นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลือราษฎรในเขตจังหวัดชายแดนและเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
จัดตั้งขึ้นเพื่อความมั่นคงของประเทศ และให้การบำรุงขวัญราษฎรที่อยู่ห่างไกลตามแนวชายแดน และอยู่ในเขตปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยให้ความช่วยเหลือในด้านการประกอบอาชีพการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภคต่างๆ และจัดกำลังป้องกันรักษาความสงบ นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน ๙ นิคม ใน ๙ จังหวัด
๔. นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลือราษฎรเพื่อเป้าหมายทางการเมืองและเศรษฐกิจ
จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๐๔ เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่การปกครองเข้าไปไม่ถึง โดยการอพยพราษฎรไทยพุทธไปอยู่ร่วมกับราษฎรไทยมุสลิม โดยส่งเสริมการพัฒนาทั้งทางด้านสาธารณูปโภคและอาชีพ นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน ๕ นิคม ใน ๓ จังหวัด
๕. นิคมสร้างตนเองในลักษณะพิเศษเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาทางการปกครอง
จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ราษฎรได้รู้จักอาชีพใหม่ๆ ที่คนไทยไม่คุ้นเคยซึ่งสามารถยึดเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในทางเศรษฐกิจและขยายให้เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคตได้ และเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกับราษฎร และระหว่างราษฎรกับราษฎร นิคมสร้างตนเองในลักษณะนี้มีจำนวน ๔ นิคม ใน ๖ จังหวัด คือ
หวังว่าการเดินทางไปรับภารกิจสำคัญของผู้หญิงเก่งอย่าง “โสพิญฐ์ สุวรรณหงส์” กับตำแหน่ง“ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองบางระกำ จ.พิษณุโลก” จะเป็นก้าวสำคัญที่จะปูทางไปสู่ผู้บริหารระดับสูง เป็นเพชรเม็ดงามของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในอนาคต…ขอเป็นกำลังใจอีกหนึ่งกำลังใจจากสื่อเล็กๆอีก1สื่อเพื่อการเป็นผู้นำในอนาคตต่อไป