สภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในวันที่ 21 มี.ค. 65 เพื่อขอให้ยุติแผนปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคมที่จะถึงนี้ ที่จะซ้ำเติมประชาชนในภาวะค่าครองชีพถีบตัวสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พร้อมเสนอปรับแก้นโยบายด้านพลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ด้วยการบริหารจัดการปริมาณโรงไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการ และขอให้รัฐหันมาสนับสนุนการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ รวมทั้งเสนอให้วิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตกับประชาชนแถบลุ่มแม่น้ำโขงที่เกิดจากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า และปัญหาธรรมาภิบาลระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จำเป็นต้องสร้างความโปร่งใสให้เจ้าหน้าที่รัฐมีบทบาทเป็นผู้กำกับนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง
แผนการขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม นี้ นักวิชาการในเวทีเสวนาออนไลน์ที่จัดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ชี้ว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่คิดค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนที่ 4 บาท ต่อหน่วย ขณะที่ประเทศในอาเซียนจ่ายค่าไฟเฉลี่ยที่ 2 บาทต่อหน่วย ในขณะเดียวกัน บนเวทีระดมสมองในครั้งนี้มีการชี้ชัดถึงสาเหตุหนึ่งของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในไทยที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน คือ การมีไฟฟ้าสำรองเกินจำเป็น การจัดสรรราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม และการคิดค่าผ่านท่อที่แปรผันตามราคาก๊าซ ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนท่อก๊าซไม่มีความผันแปร สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า แผนการผลิตพลังงานไทยอาจไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเสนอแผนเพื่อการปรับปรุงการผลิตพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดเสวนาในครั้งนี้ว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคต้องการเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่รัฐได้ประกาศให้มีผลในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ทั้งยังต้องการใช้เวทีนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลเฟ้นหาข้อเสนอเพื่ต่อไปยังภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระจากนโยบายที่รัฐกำหนดโดยขาดความเป็นธรรมแก่ภาคประชาชน ทั้งยังต้องการสะท้อนให้รัฐเห็นถึงผลทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อาจคิดไม่รอบ ซึ่งในฐานะองค์กรที่กฎหมายกำหนดชัดให้เป็นตัวแทนของผู้บริโภคจึงไม่สามารถนิ่งเฉยได้เมื่อเห็นว่าเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคในกรณีนี้

    หากวิเคราะห์ถึงภาพรวมสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศไทย ที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค พบว่า ในแต่ละปีไทยใช้พลังงานประมาณ 2,000,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 700,000 ล้านบาท ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ไทยมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2552 ไทยสามารถพึ่งตนเองได้ร้อยละ 46 ที่เหลือเป็นการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ แต่ในปี 2565 ไทยสามารถการพึงตนเองเหลือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานก็ยากที่จะช่วยเหลือตนเองได้
“ไทยละเลยและมองข้ามความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์จนประเทศขาดภูมิคุ้มกันหากเกิดวิกฤติพลังงานขึ้น” ผศ.ประสาท มีแต้ม กล่าวถึงความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุคที่ผ่านมาว่า หากพิจารณาในเชิงนโยบายด้านการสรรหาแหล่งพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าจะเห็นว่านโยบายของไทยแตกต่างไปจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่ล้วนให้ความสำคัญอย่างมากและส่งเสริมให้คนในประเทศหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก ขณะที่ไทยมีปริมาณแสงอาทิตย์จำนวนมากแต่กลับไม่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ทั้งยังกำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่เท่ากันโดยราคาซื้อเข้าแพงแต่ขายกลับถูก
ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยจะใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตประมาณ 3 บาท แต่ถ้าไทยปรับนโยบายโดยนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในปริมาณเท่ากับประเทศเยอรมนีผลิตที่ 51,000 ล้านหน่วย ไทยจะประหยัดค่าก๊าซธรรมชาติไปได้ถึง 150,000 ล้านบาท
“ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศเราต้องซื้อมาจากทั้งภาคเอกชนและต่างประเทศ หากเรายังกำหนดนโยบายในการใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าย่อมต้องส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่ต้องปรับสูงขึ้นซึ่งเพิ่มความลำบากให้แก่ประชาชนในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง เช่นในปัจจุบัน ที่สำคัญหากเกิดภาวะขาดแคลนรัฐควรปรับนโยบายให้ประชาชนได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในไทยก่อนภาคอุตสาหกรรมเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติที่แม้ไม่ได้ใช้ก็ยังต้องจ่ายเงินให้เอกชนทั้งยังกำหนดเงื่อนไขให้ปรับราคาเพิ่มตามราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะการสร้างท่อเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวจึงไม่ควรกำหนดเช่นนี้ โดยเห็นจากการที่รัฐต้องจ่ายค่าผ่านท่อให้แก่โรงงานผลิตไฟฟ้า 6 แห่ง ช่วงมกราคม – เมษายน 2565 สูงเกือบ 3,000 ล้านบาททั้งที่ไม่มีการผลิตไฟฟ้าแต่อย่างใด” ผศ.ประสาท มีแต้ม กล่าวเสริม
ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในไทยมีแหล่งผลิตจาก กฟผ. และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขนาดเล็กของภาคเอกชน โดยบางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้โรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ในปัจจุบันมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าได้สูงถึงร้อยละ 31 แต่กลับผลิตไฟฟ้าได้เพียงร้อยละ 23 หายไปร้อยละ 8 ซึ่งแต่ละเปอร์เซ็นต์ที่หายไปนั้นมีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับกติกาสากลที่กำหนดอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าต้องอยู่ที่ร้อยละ 80 – 90 แต่พบว่าโรงไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 35 และโรงไฟฟ้ารายย่อย (SPP) มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 63 เท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไปของไฟแพง
ทางออกของปัญหานี้ คือ ต้องสร้างให้เกิดประชาธิปไตยการใช้พลังงาน จริงๆ แล้วกระทรวงพลังงานเคยส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมทำการวิจัยกับองค์กรพลังงานสากล (IEA) ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ไทยต้องมีความยืดหยุ่นในการวางกรอบนโยบายพลังงานแต่ไทยกลับทำสัญญากับภาคเอกชนแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็ไม่สามารถปรับตัวได้ แม้ประชาชนไม่ได้ใช้ไฟฟ้าแต่ก็ยังต้องจ่ายเงินเท่าเดิม นอกจากนี้ ยังต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา เท่าเทียม และมีความเป็นธรรม จะขึ้นราคาโดยคำนึงถึงมุมมองเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้
“อยากให้รัฐกระจายการผลิตไฟฟ้าไปสู่ท้องถิ่นและให้กำกับดูแลโดยท้องถิ่นและรับผลประโยชน์โดยท้องถิ่น ไม่ใช่การผูกขาดแบบปัจจุบัน และด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องมีอัตราการปล่อยที่ต่ำซึ่งจะช่วยให้เกิดประชาธิปไตยการใช้พลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม กระแสเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปพลังงานมีมานานแล้วในไทย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา จนทำให้อัตราการพึ่งตนเองด้านพลังงานของไทยลดต่ำลงเพราะรัฐปล่อยให้คนขายพลังงานกำหนดนโยบายด้านพลังงานมานาน อยากขอให้ยุติแนวทางดังกล่าวและหันมามองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก” ผศ.ประสาท มีแต้ม เรียกร้องให้รัฐสร้างประชาธิปไตยการใช้พลังงานให้เกิดขึ้นในไทย
ด้านอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญที่ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงว่า ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของไทยเมื่อเทียบกับอัตราการผลิต ปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งระบบอยู่ที่ 46,136.4 เมกะวัตต์ ที่น่าสังเกต คือ กฟผ.ไม่ได้เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้าอีกต่อไปเพราะผลิตได้เพียงร้อยละ 33.64 หรือ 15,520 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งทำให้ขาดอำนาจในการถ่วงดุลย์เรื่องราคาค่าไฟฟ้า เพราะที่เหลือเป็นการผลิตโดยภาคเอกชนและการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่นำเข้าจากลาวรวม 30,600 เมกะวัตต์หรือประมาณร้อยละ 66.36
หากพิจารณาในส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้ากับยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือที่เรียกว่าพีคไฟฟ้าพบว่าค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30,000 เมกะวัตต์ในขณะที่ไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 46,136.4 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้าในประเทศ และเมื่อปริมาณการผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็นก็ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มค่าไฟฟ้าจึงพุ่งสูงขึ้น โดยนักวิชาการหลายท่านได้ระบุว่าปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยมีเกินความต้องการเป็นเหตุให้หลายโรงงานต้องหยุดการผลิตนานกว่า 2 ปีแต่ประชาชนยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้าบวกค่าปรับให้แก่โรงงานที่หยุดผลิตดังกล่าวมาโดยตลอดซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม
“จากการเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่าค่าซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนรายใหญ่อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูงประมาณ 3.60 บาทต่อหน่วย ขณะที่รับซื้อจากรายย่อยอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย และ กฟผ.นำมาขายส่งอยู่ที่ 2.57 บาทต่อหน่วยเท่านั้น โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข่าวว่า กกพ. มีมติให้ขึ้นค่าเอฟที (FT) หรือค่าไฟฟ้าผันแปรรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็น 4 บาทต่อหน่วยโดยให้เหตุผลว่าเกิดจากการเพิ่มราคาต้นทุนการผลิต โดยยังไม่ได้ข้อสรุปจากการเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด” อิฐบูรณ์ อ้นวงษา เปิดเผยถึงการประกาศปรับค่าเอฟทีล่าสุดโดย กกพ.
“ข้อมูลที่เราพบอีกประการหนึ่งจากข้อมูลที่ กฟผ. ได้รายงานต่อ กกพ. พบว่า มีการถ่ายอำนาจในการผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ไปยังรายย่อย โดยผู้ผลิตรายใหญ่มีการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. เพียงแค่ร้อยละ 23 เท่านั้น ในขณะที่ผู้ผลิตรายย่อยกลับขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ถึงร้อยละ 26 ส่งผลให้ กฟผ. ต้องรับซื้อไฟฟ้าในราคา 4 บาทต่อหน่วย เพราะส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตทำให้มีต้นทุนสูง และการซื้อไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงในปริมาณที่มากก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง แทนที่รัฐจะเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่ต้นเหตุแต่เลือกที่จะบอกให้ประชาชนประหยัดการใช้ไฟซึ่งเป็นปลายเหตุแทน” อิฐบูรณ์ อ้นวงษา แจงรายละเอียดการเชื่อมโยงการผลิตระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย
โดยปัญหาการผลิตไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการนั้น ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ที่ออนไลน์สายตรงจากอเมริกามาร่วมพูดคุยในครั้งนี้ กล่าวว่า ปกติแต่ละประเทศจะมีการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ยามเกิดเหตุฉุกเฉินประเทศไทยก็เช่นกันได้มีการกำหนดไฟฟ้าสำรองไว้ที่ร้อยละ 15 หรือ 4,500 เมกะวัตต์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นไปเช่นนี้ กลับมีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกิดความต้องการ ตั้งแต่ปี 2559 ที่มีการผลิตสำรองไว้สูงถึง 7,000 เมกะวัตต์จนปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้สูงถึง 12,000 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้ต้นทุนการผลิตสูง และกลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าส่วนเกินสูงถึง 48,929 ล้านบาทต่อปีที่ประชาชนต้องแบกรับในปัจจุบัน หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่ายโดยเฉลี่ยที่ 2,000 บาทต่อคนต่อปี ทั้งยังสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วย
การกำหนดเงื่อนไขการผลิตป้อนรัฐแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทน (take or pay) ที่รัฐได้ทำสัญญาประกันความเสี่ยงสำหรับผู้ลงทุนไว้ทำให้ไม่ว่าจะเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ก็ต้องมีการประกันค่าตอบแทนการลงทุนในรูปของการชำระค่าความพร้อมจ่าย (ability payment : ap)
“โรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ในไทยปัจจุบันมีประมาณ 12 แห่ง ซึ่ง 3 ใน 4 ดำเนินการโดยกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ซึ่งถือว่าค่อนข้างผูกขาดในส่วน IPP อย่างชัดเจน และในส่วนที่เหลือดำเนินการโดยราช กรุ๊ป และ โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ซึ่งมี ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หากไม่มีการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะทำให้ประชาชนต้องชำระค่าความพร้อมจ่ายสูงถึง 2,550 ล้านบาทต่อเดือนหรือประมาณ 22,000 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญโรงผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า” ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน กล่าวถึงภาระที่คนไทยต้องชำระค่าความพร้อมจ่ายในปัจจุบัน
ช่วงต้นปี 2564 พบว่า ปตท. เป็นกิจการที่ถือหุ้นร้อยละ 50 โดยกระทรวงการคลัง ได้นำก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในคลังสำรองจำนวนมากส่งออกไปจำหน่ายในญี่ปุ่นซึ่งสามารถสร้างผลกำไรได้สูงมาก และในช่วงปลายปี 2564 พบว่า ไทยประสบปัญหามีก๊าซธรรมชาติสำรองไม่เพียงพอ ประกอบกับปริมาณการผลิตของแท่นก๊าซในอ่าวไทยลดลงกว่าปกติประมาณร้อยละ 5 ส่งผลให้ กฟผ. จำเป็นต้องสั่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทะยานสูงขึ้นมากประมาณ 800 บาทต่อล้านบีทียูในขณะที่ช่วงต้นปี 64 มีราคาเพียงแค่ 180 ล้านบาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น
หลายฝ่ายจึงตั้งคำถามว่าการที่ ปตท. นำก๊าซธรรมชาติไปทำกำไรในต่างประเทศแล้วนั้นพอก๊าซราคาเพิ่มสูงขึ้นได้มีการซื้อกลับมาสำรองไว้ทดแทนหรือไม่ และส่วนกำไรที่ได้นั้นตกเป็นของ ปตท. หรือไม่ ที่สำคัญเมื่อมีปริมาณก๊าซไม่เพียงพอในการผลิตไฟฟ้าจนทำให้ กฟผ. ต้องซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาที่สูงแต่ฝ่ายเดียว และเมื่อต้นทุนสูงภาระดังกล่าวก็ถูกส่งต่อมายังประชาชน ในส่วนนี้ ปตท. ได้มีการชดเชยผลกระทบในส่วนนี้หรือไม่” ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน แสดงให้เห็นถึงข้อกังขาจากนโยบายบริหารด้านก๊าซสำรองของไทยที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันองค์ประกอบของราคาก๊าซคิดจากค่าเนื้อก๊าซและค่ากำไรบวกเพิ่มโดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) จะคิดที่ร้อยละ 1.75 ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) คิดอยู่ที่ร้อยละ 9.33 ซึ่งยังไม่รวมค่าผ่านท่อที่คิดที่ 21.7 บาทต่อล้านบีทียู จะทำอย่างไรที่จะสร้างให้เกิดสมดุลราคาเพื่อแก้ปัญหาค่าไฟแพง และเมื่อดูข้อมูลการขายไฟให้แก่ กฟผ. พบว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เป็นผู้ขายไฟฟ้าให้ กฟผ. มากสุดถึงร้อยละ 30 เป็นไปได้หรือไม่หากปรับค่ากำไรบวกเพิ่มของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กให้เท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ร้อยละ 1.75 เพราะหากทำได้ก็จะช่วยลดราคาค่าไฟฟ้าได้ก่อนถึงมือผู้บริโภค ไม่เป็นการแสวงหากำไรเกินควร
นอกจากนี้ การนำราคาก๊าซไปผูกกับราคาค่าขนส่งผ่านท่อก็ควรต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยอยากเสนอให้มีการกำหนดเพดานราคาก๊าซไม่เกิน 200 บาทต่อล้านบีทียู และกำหนดค่าประสิทธิภาพที่ร้อยละ 2 ดังเช่นที่ทำมาในอดีต เพียงแค่นี้จะทำให้ประเทศลดภาระค่าไฟฟ้าได้ประมาณกว่า 500 ล้านบาทต่อปี หากปรับค่ากำไรบวกเพิ่มและค่าขนส่งแล้วจะทำให้ประเทศประหยัดเงินได้ถึง 9,000 ล้านบาทต่อปี อีกประการสำคัญที่ลืมไม่ได้คือเงื่อนไขใช้ก็ต้องจ่าย ซึ่ง ณ ปี 2564 อยู่ที่ 125,888 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าผ่านท่อขยับเพิ่มสูงถึงกว่า 40 บาทต่อล้านบีทียูทั้งที่ควรจะอยู่ที่ 22 บาทต่อล้านบีทียู
แสดงให้เห็นว่าการประมาณการเกินความเป็นจริงก็ส่งผลให้เกิดการลงทุนเกินจำเป็นและต้องตกเป็นภาระของผู้บริโภคในที่สุด ซึ่งรัฐควรทบทวนเรื่องของแผนการลงทุนให้รอบคอบว่ามีความต้องการรองรับจริงหรือไม่ และมีการจัดสรรต้นทุนให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ควรใช้ราคาที่ผลิตจากอ่าวไทยไม่ควรนำไปเทียบกับราคาที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศ โดยตรรกะแล้วไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภค ในขณะที่ปิโตรเคมีบางส่วนใช้ในประเทศ บางส่วนเพื่อการส่งออก จึงต้องดูว่าเหตุใดเราถึงยินยอมให้ปิโตรเคมีใช้ก๊าซคุณภาพสูงในราคาที่ต่ำ ในขณะที่ผู้บริโภคกลับต้องมารับต้นทุนค่าไฟจากราคาเนื้อก๊าซที่มีราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะก๊าซที่ถูกดึงไปให้โรงแยกก๊าซนั้นเป็นราคาอ่าวไทย โดยทิ้งภาระก๊าซราคาแพงที่นำเข้ามาให้เป็นปัญหาของผู้บริโภค
เหตุผลที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบนี้ คือ ก๊าซจากอ่าวไทยที่พอนำมาเข้าโรงแยกก๊าซแล้วพบว่าส่วนหนึ่งใช้เพื่อการผลิตก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งก๊าซหุงต้มที่ผลิตทั้งหมดไม่ได้นำมาใช้เพื่อครัวเรือนเพราะใช้แค่เพียงร้อยละ 35 เท่านั้น ที่เหลือถูกนำไปใช้ผลิตปิโตรเคมีและใช้เพื่อภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ประเทศไทยส่งออกปิโตรเคมีมากถึงร้อยละ 50 – 60 ซึ่งส่วนใหญ่นำไปเพื่อค้ากำไรต่างประเทศ ราคาที่ปิโตรเคมีได้รับอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อล้านบีทียู ทำให้ ปตท.ได้กำไรแบบส้มหล่น หากจะทำให้เกิดความยุติธรรม
“อยากเสนอให้นำราคาก๊าซอ่าวไทยมาร่วมเกลี่ยหาราคากลางร่วมกับก๊าซนำเข้าด้วย ถ้าทำตามวิธีนี้จะสามารถลดภาระต้นทุนค่าไฟช่วงกันยายน 2564 – สิงหาคม 2565 ได้ถึง 40,000 ล้านบาทต่อปี และหากลดกำไรรวมถึงค่าผ่านท่อพร้อมเกลี่ยต้นทุนก๊าซแล้วจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐได้มากถึง 49,500 ล้านบาทต่อปี ทั้งยังเป็นการจัดสรรผลประโยชน์ของก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศของเราเองในรูปแบบที่มีความเป็นธรรมมากขึ้นระหว่างผู้ใช้ไฟและผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมี” ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน ชี้แจงข้อเสนอการจัดการราคาก๊าซธรรมชาติของไทยให้มีความเป็นธรรม
เช่นเดียวกับข้อกังขาจากนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่มองว่าปัญหาค่าไฟแพงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย พร้อมเรียกร้องให้รัฐต้องเว้นระยะห่างเพื่อลดภาพการเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชน
“ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐเองทราบปัญหาดังกล่าวนี้ดี และจากการเก็บข้อมูลของตนพบว่าค่าไฟที่คนไทยจ่ายในปัจจุบันแพงที่สุดในอาเซียน โดยค่าไฟในอาเซียนเฉลี่ยอยู่ที่ 2 บาทต่อหน่วยเท่านั้น หรือแม้แต่ในหลายรัฐของอเมริกาก็ยังมีค่าไฟที่ถูกกว่าไทย ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการทำงานของรัฐไม่เคยมีการเปรียบเทียบว่าดีกว่าหรือแย่กว่าอาเซียน แต่กลับอ้างถึงความจำเป็นมาโดยตลอด มุ่งเน้นที่จะสร้างหลักประกันผลกำไรให้แก่ภาคธุรกิจเป็นสำคัญไม่ได้เน้นในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่าภาระก็ต้องตกอยู่กับภาคประชาชน”
อีกสิ่งหนึ่งที่มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ความสัมพันธ์ของคนในภาครัฐและเอกชน เพราะกฎหมายไทยอนุญาตให้คนของภาครัฐไปนั่งในธุรกิจเอกชนได้ โดยเฉพาะหน่วยงานที่รัฐหรือรัฐวิสาหกิจถือหุ้นอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ไม่มีการเว้นระยะระหว่างรัฐและเอกชน เข้าไปสู่ทฤษฎีที่ชี้ให้เห็นว่าเอกชนอาจเข้าไปมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐหรือไม่ ซึ่งอยากฝากให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจำเป็นที่ต้องตอบข้อสงสัยเหล่านี้ให้เกิดความกระจ่างชัดในสังคม
นอกจากนี้ รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร ก็ได้ร่วมฝากคำถามถึงภาครัฐเกี่ยวกับปัญหาด้านการกำหนดนโยบายพลังงานเพิ่มเติมว่า การสร้างระบบฝากขายก๊าซธรรมชาติของภาครัฐนั้นมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร จะสร้างความเสียเปรียบให้แก่ภาครัฐหรือไม่ต้องนำมาพิจารณาทบทวน
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการจ่ายค่าผ่านท่อที่แปรผันไปตามราคาก๊าซนั้นในทางวิชาการเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ซึ่งปัจจุบันยังเป็นข้อพิพาทในชั้นศาล และอยากให้ชี้แจงขั้นตอนการคิดค่าผ่านท่อให้สาธารณชนทราบอย่างชัดเจน เพื่อให้เห็นว่าวิธีกำหนดราคาเช่นนี้เป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่ เป็นการหารายได้จากความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่ และเมื่อเกิดการขาดแคลนรัฐสามารถดำเนินการให้ กฟผ. สามารถใช้ก๊าซสำรองได้หรือไม่ ไม่ต้องการให้เกิดความไม่เท่าเทียมหรือการคิดว่าเป็นการหาประโยชน์ในช่วงที่ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งอยากคำถามเหล่านี้ไปยังรัฐบาลด้วย
ขณะที่พันโทแพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ร่วมแสดงความเห็นว่า โดยปกติราคาค่าไฟฟ้าจะคิดจากราคาก๊าซและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการกำกับราคาค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด แม้ในช่วงที่ราคาก๊าซปรับตัวลดลงแต่รัฐก็ไม่ได้ประกาศลดค่าไฟให้ประชาชนแต่อย่างใด รวมถึงอีกหลาย ๆ ปัญหาทั้งเรื่องการคิดค่าผ่านท่อที่ไม่เป็นธรรมด้วย จากการเข้าไปสำรวจข้อมูลทางเว็บไซต์ของ กฟผ. พบว่า มีการซื้อก๊าซจาก ปตท. ที่ราคา 390 บาทต่อล้านบีทียูเพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ราคาก๊าซในตลาดโลกมีราคาแค่ 150 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้นซึ่งต่างกันถึง 3 เท่า
สอดคล้องกับข้อมูลของเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงที่พบว่าราคาก๊าซอยู่ที่ 190 บาทต่อล้านบีทียู จึงทำให้ตนต้องย้อนกลับไปดูข้อมูลและพบว่ามีประกาศของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มีการระบุเงื่อนไขราคารับซื้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาปากหลุมประมาณ 2 เท่า ซึ่งน่าจะเป็นการใช้สูตรการคำนวณราคาดังกล่าวในการคิดราคาซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก โดย ปตท. ได้กลายเป็นเสือนอนกินจากข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งถือเป็นจุดบกพร่องของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กฟผ. และ ปตท. อย่างชัดเจน โดยมองว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคควรมีท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไข ซึ่งยังไม่รวมถึงเรื่องของอัตราสัดส่วนของการบริโภคไฟฟ้าที่มีภาคธุรกิจขนาดใหญ่ใช้อยู่มากกว่าร้อยละ 40 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศที่ควรต้องนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน
แม้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะหยุดผลิตไฟฟ้าและรับค่าพร้อมจ่ายจากภาครัฐมาเป็นเวลานาน เหตุเพราะปริมาณไฟฟ้าล้นตลาดนั้น แต่รัฐก็ยังคงซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้ในประเทศซึ่งดูขัดแย้งในเหตุผล โดยไทยรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาวรวม 7 โรง รวมกำลังผลิตอยู่ที่ 3,947 เมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนอยู่ที่ 2 บาทต่อหน่วย แต่จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบในการจัดซื้อไฟฟ้าของเขื่อนหลวงพระบางที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.84 บาทต่อหน่วย และเขื่อนปากแบงที่ 2.9 บาทต่อหน่วย จึงทำให้เห็นว่าการซื้อไฟดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ค่าไฟในประเทศลดลงได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นองค์การยูเนสโกยังมีความเป็นห่วงเพราะเป็นที่ทราบดีว่าหลวงพระบางเป็นเมืองอนุรักษ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของโลกด้วย ซึ่งเขื่อนดังกล่าวจะสร้างขึ้นทางตอนเหนือของประเทศ และคาดกันว่าจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในเขตเมืองกว่า 6 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 465 ครัวเรือน โดยเขื่อนหลวงพระบางได้มีบริษัทในไทยร่วมถือหุ้นคือ ช.การช่าง และเขื่อนปากแบง เป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนจีนและรัฐบาลลาว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องกับชุมชนโดยรอบทั้งด้านการดำรงชีวิตและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
โดยอำนาจ ไตรจักร ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ร่วมสะท้อนถึงผลกระทบที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนว่า ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างเขื่อนในลาวก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีน แต่พอมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาทำให้สภาพแวดล้อมของแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ส่งผลกระทบทั้งด้านการเกษตรน้ำขาดแคลนเกิดสันดรทราย การประมงก็ไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้เหมือนเดิม ด้านประเพณีวัฒนธรรมเก่าต่างๆ เช่นการลอยกระทงและการแข่งเรือเริ่มหดหายไป รวมถึงระบบนิเวศน์ป่าไม้ที่ได้รับผละกระทบด้วย ซึ่งการที่รัฐบาลลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวเป็นการตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงความเดือนร้อนของคนไทยที่อาศัยริมฝั่งโขงเลย และความเดือดร้อนก็จะขยายวงไปสู่คนไทยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาขา เพราะเมื่อน้ำโขงแห้ง น้ำในแม่น้ำสาขาก็แห้งด้วยเช่นกัน อดีตเมื่อน้ำขึ้นก็จะมีปลาว่ายมาตามน้ำ และเมื่อน้ำลดผู้คนก็ได้อาศัยจับปลามาบริโภค หากน้ำแห้งวงจรดังกล่าวก็สูญสิ้น ความเป็นอยู่ของผู้คนก็ลำบากมากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นเหตุมาจากการสร้างเขื่อน พี่น้องริมฝั่งโขงจะอยู่อาศัยต่อไปได้อย่างไร อยากฝากคำถามไปยังรัฐบาลว่า ทำไมถึงไม่นำประโยชน์ที่ได้จากพลังงานทดแทนมาใช้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พี่น้องเราก็จะไม่เดือดร้อน การที่รัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หาประโยชน์จากการสร้างเขื่อน ช่วยลงมาหารือกับพี่น้องในชุมชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อศึกษาเชิงลึกว่าสามารถทำจริงได้หรือไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ที่โปร่งใสให้ได้ความเห็นจริงจากประชาชน
นอกจากนี้ ศลันย์ ธนากรภักดี กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย ยังได้แสดงความเห็นช่วงปิดท้ายเวทีเสวนาว่า มติ สตง. ในเดือนพ.ค. 59 ระบุชัดเจนว่า ปตท. ได้ส่งรายงานเท็จให้ศาลปกครองสูงสุด ในการนำส่งคืนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ส่งคืนระบบท่อขนส่งระบบปิโตรเลียม เราจึงพบว่าประชาชนได้จ่ายผลประโยชน์ทุจริตให้ ปตท. ไม่กว่า 600,000 ล้านบาท และประมาณ 30,000 ล้านต่อปีที่เป็นผลประโยชน์ทุจริตจากการคิด
ค่าผ่านท่อที่ ปตท. ผูกขาดบังคับเรียกเอาจากประชาชน ซึ่งจากที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังประธานวุฒิสภาครั้งล่าสุด ซึ่งได้เห็นพ้องด้วยที่จะให้กรมสนธิสัญญาส่งรายงานการทุจริจของประเทศไทยไปให้สหประชาชาติเป็นผู้ตรวจสอบการทุจริตในระบบตุลาการของประเทศไทยที่มาจากการทุจริตของตุลาการศาลปกครองและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ซึ่งย้ำว่าประชาชนไม่ควรจ่ายผลประโยชน์ทุจริตในกิจการพลังงาน ให้เอากำไรที่เกินสมควรออกไปจากค่าไฟฟ้า จึงอยากเสนอเพิ่มโดยให้นำผลประโยชน์ทุจริตที่ ปตท. ได้รับผ่านค่าผ่านท่อออกไปจากค่าไฟฟ้าด้วย
ทั้งนี้ อีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยลดผลกระทบเรื่องค่าไฟฟ้าแพงให้แก่ประชาชนคือการที่รัฐต้องเร่งส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยรับซื้อไฟที่ 10 เมกะวัตต์ ด้วยราคารับซื้อที่ 2.20 บาทต่อหน่วย โดยกำหนดระยะเวลาซื้อ 10 ปี ซึ่งหากเป็นไปได้ อยากให้ขยายระยะเวลการรับซื้อให้เพิ่มขึ้นเป็น 20-25 ปีตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ โดยในส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เข้ามาเป็นผู้กำหนดนโยบายต่อไป