สื่อฟิลิปินส์เผยข่าวลวงออนไลน์ในฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเมือง วิธีการป้องกันคือผู้รับสารต้องมีความรู้ในเรื่องของข่าวลวง ขณะที่สื่อรอยเตอร์เผยการมีเครือข่ายมากมายในจุดต่างๆ ทั่วโลกสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหรือรูปภาพได้ว่าข้อมูลหรือรูปภาพที่ได้มานั้นเป็นเรื่องลวงหรือจริง ด้านสื่อไทยชัวร์ก่อนแชร์ชี้ว่ากุญแจสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อคือเด็กและเยาวชนแต่ความท้าทายในปัจจุบันคือประชาชนไม่สนใจว่าที่ตนแชร์ไปนั้นใช่ข่าวจริงหรือไม่ หากตนมีความพอใจ ชอบใจ ก็พร้อมที่จะแชร์ต่อ ขณะที่นักวิชาการสื่อไทยระบุว่าผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงมากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาบางแง่มุมพบว่า เด็กรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่รู้ไม่เท่าทันสื่อมากที่สุด

ภาคี 8 องค์กร ได้แก่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ร่วมกันจัดงาน International Conference on Fake News ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นช่วงบ่ายในหัวข้อ Lesson Learned on Fact Checking Efforts Opportunities and Challenges มีวิทยากรด้านวิชาชีพจากต่างชาติสะท้อนการตรวจสอบข่าวลวง และนักวิชาการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังนี้

Lucille S Sodipe จาก VERA Files, the Philippines กล่าวว่าข้อมูลข่าวลวงออนไลน์ส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์เป็นเรื่องการเมืองที่มาในรูปคลิปวิดีโอ โดยการเกิดข่าวลวงเกิดขึ้นจาก 3 เทคนิค ได้แก่ 1.เทคนิคการแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ทั้งหมด 2.เทคนิคการให้ข้อมูลที่บิดเบือน 3.เทคนิคการใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง สถานการณ์จริง แต่เปลี่ยนแปลงข้อมูล ใช้หัวข้อหรือภาพที่ไม่ตรงกับเหตุการณ์นั้นๆ

วิทยากรได้แนะแนวทางสำหรับการทำการตรวจสอบข้อมูล โดยมีลักษณะการทำงานคล้ายกับการทำงานของวัคซีน คือการฉีดวัคซีน จะทำให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ เช่นเดียวกันกับการมีความรู้ในเรื่องของ Fake News เมื่อผู้รับสารมีความรู้ในเรื่องของ Fake News แล้วได้รับข่าวปลอมก็จะมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อในการรับข้อมูลข่าวสาร

นอกจากนี้ วิทยากรยังได้อธิบายถึงกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของ Vera Files ที่มีทีมงานช่วยกันตรวจสอบข้อมูล และให้เพื่อนร่วมงานวิจารณ์งาน ทำให้ลดการผิดพลาดลงได้มาก และในขั้นตอนสุดท้ายจะให้บรรณาธิการอาวุโสจำนวน 3 คน ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูล

Nur-Azna Sanusi จาก Thomson Reuters กล่าวว่าการมีเครือข่ายมากมายในจุดต่างๆ ทั่วโลก จะสามารถช่วยให้ผู้สื่อข่าวหรือคนที่ทำงานด้านสื่อสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหรือรูปภาพได้ว่า ข้อมูลหรือรูปภาพที่ได้มานั้นเป็นเรื่องลวงหรือจริง

Thomson Reuters ใช้ข้อมูลจาก UGC (Users Generate Content) 2 รูปแบบ คือ 1. ติดต่อบุคคล ผ่านเครือข่ายของทอมสัน รอยเตอร์ส และ 2.ผ่านโซเชียลมีเดียที่มีคนโพสต์ไว้ ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน

Thomson Reuters ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดยใช้วิธีเปรียบเทียบภาพจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น เปรียบเทียบ IG และ IG Story กับภาพที่ได้จาก Twitter และ Facebook และดูภาพถ่ายจากหลายมุม หลายที่มา จากนั้นตรวจสอบอีกครั้งด้วย Software SAM

ทั้งนี้ วิทยากรชี้ให้เห็นว่า ในการตรวจสอบ (Verification) จะต้องตรวจสอบทั้งแหล่งที่มา (Source) และ ตรวจสอบเนื้อหา (Content) ด้วย โดย Thomson Reuters ย้ำว่าก่อนที่จะเผยแพร่ข่าว จะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้

คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท. กล่าวถึงรายการชัวร์ก่อนแชร์ ว่าเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อปี 2015 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD ในช่วงข่าวภาคค่ำ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เนื้อหา (Content) ของรายการชัวร์ก่อนแชร์ ถูกเผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ YouTube Line Facebook INSTAGRAM และ Twitter

เมื่อมีข่าวลวง “ชัวร์ก่อนแชร์” นิยมใช้วิธีทำอินโฟกราฟิก ขนาด A4 เพื่อให้ขยายดูในโทรศัพท์ได้ง่าย โดยเลือกภาพข่าวลวงที่คุ้นชินตามาประทับตรา “มั่ว อย่าแชร์” พร้อมเครื่องหมายกากบาททับภาพ ซึ่งอินโฟกราฟิก นั้นมีกระบวนการผลิตประหยัดที่สุด มีคนดูจำนวนมาก และมีการแชร์มากที่สุด ขณะที่คลิปวิดีโอ ใช้เวลาทำนานที่สุด และมีค่าใช้จ่ายมากที่สุด แต่ก็ยังต้องทำ เพราะมีความน่าเชื่อถือที่สุด

วิทยากรเชื่อว่ากุญแจสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อคือเด็กและเยาวชน แต่ความท้าทายในปัจจุบัน คือประชาชนไม่สนใจว่าที่ตนแชร์ไปนั้นใช่ข่าวจริงหรือไม่ หากตนมีความพอใจ ชอบใจ ก็พร้อมที่จะแชร์ต่อ

ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่าคนที่ทำหน้าที่เป็นสื่อจะต้องมีความเป็นกลาง ต้องมีจริยธรรมในการนำเสนอข่าว โดยมีหลักการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเนื้อหา โดยต้องรู้ว่าผู้เขียนเนื้อหานี้คือใคร เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ มีอคติหรือไม่ แหล่งที่มาที่ลงเนื้อหามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เนื้อหามีประโยชน์หรือไม่ เนื้อหานี้มีความพยายามในการขายหรือเผยแพร่อะไรเป็นพิเศษหรือไม่ เนื้อหามีความผิดพลาดหรือไม่ มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือไม่

ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ จึงขอเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาหรือแนวทางการจัดการกับข่าวปลอมโดยแนวทางแรก คือการใช้กฎหมาย อาจจะไม่ใช่กฎหมายเชิงบังคับ แนวทางที่ 2 คือการใช้จริยธรรมสื่อ สมาคมวิชาชีพสื่อต้องช่วยกันตรวจสอบและกำกับกันเอง แนวทางที่ 3 คือสังคมจะต้องรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันอคติของตัวเอง เกิดความอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอว่าข้อมูลนี้เป็นจริงหรือไม่ หากพบว่าเป็นข้อมูลปลอมก็ต้องร่วมกันที่จะไม่สนับสนุนข้อมูลนั้น

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการด้านสื่อ กล่าวว่า งานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับข่าวลวง เป็นการศึกษาผู้คนที่ส่งต่อข่าวลวง และการศึกษาผู้รับสารว่าตกเป็นเหยื่อหรือนำตัวเองเข้าไปอยู่ในวงจรของข่าวลวงได้อย่างไร โดยพบว่าคนเรามักจะเลือกเชื่อ เลือกชอบ ในสิ่งที่เราชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว งานวิจัยบางชิ้นพบว่าผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงมากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาบางแง่มุมพบว่า เด็กรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่รู้ไม่เท่าทันสื่อมากที่สุด

วิทยากรอธิบายว่า ตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนสร้างข่าวลวง ก็คือ รายได้ ขณะที่กระบวนการตรวจสอบข่าวลวงในบ้านเรายังไม่เป็นระบบนัก ส่วนที่ต่างประเทศ ในหลายประเทศมีการตรวจสอบหลายรูปแบบทั้งจากภาคธุรกิจและภาควิชาการ ทั้งนี้ สถาบันตัวกลาง เช่น สถาบันที่เกี่ยวข้องกับสังคมทั้งด้านวิชาชีพและวิชาการ และภาคประชาสังคม ก็สามารถเข้ามามีบทบาทร่วมกันเพื่อต่อต้านข่าวลวงได้

“ในเชิงวิชาการ มีงานวิจัยที่ทำเกี่ยวกับอำนาจของข่าวลวง และเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ใช้และผู้รับข่าวลวงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและวัฒนธรรมน้อย ความท้าทายอยู่ที่ เราจะปลูกฝังบ่มเพาะเรื่องวัฒนธรรมกับคนรุ่นใหม่อย่างไร ให้มีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม และมีสำนึกผิดชอบชั่วดี ต้องติดตั้งความคิดด้านวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง และควรมีการจัดระดับของข่าวลวง เช่น เป็นเพียงแค่การล้อเล่นสนุกๆ หรือเป็นการละเมิด หรือเป็นการ Discriminate อีกทั้งควรมีการถอดรหัสข่าวลวงว่าไปสร้างผลประโยชน์อย่างไร กับใคร และทำอย่างไรที่จะไม่ให้สังคมไทยตกเป็นเหยื่อของการสร้างรายได้ให้กับผู้สร้างข่าวลวง”

การสัมมนานานาชาติครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการร่วมลงนามและประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมของ 8 องค์กรเจ้าภาพที่ได้ประกาศต่อสาธารณะไปเมื่อเร็วๆ นี้