วันที่ 31 ตุลาคม 2565 องค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (RSPO) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดประชุมความร่วมมือและแถลงข่าวการพัฒนาเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย (Thailand Sustainable Palm Oil Alliance : TSPOA) ร่วมกับสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตโอลีโอเคมี และสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อประกาศเจตนารมย์และความมุ่งมั่นของภาคีผู้เกี่ยวข้อง ยกระดับด้านมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า การผลักดันตลาดปาล์มน้ำมันไทยสู่วิถีความยั่งยืนในระดับสาก

นายโจเซฟ เดอ ครูช ประธานบริหารของ RSPO กล่าวว่าประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ผลิตและบริโภคปาล์มน้ำมันหลัก 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งมีโอกาสในการยกระดับและเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันให้ก้าวสู่มาตรฐานที่ยั่งยืนได้มาก ดังนั้น การมีเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย จะเป็นการส่งเสริมฐานกำลังให้แข็งแกร่งต่อการผลักดันทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตที่มีประสิทธิภาพของทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น และ RSPO ตระหนักดีว่าภาคีความร่วมมือต่าง ๆ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการขยายตลาดปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนให้เป็นบรรทัดฐานของประเทศไทยสู่สากล พร้อมมีความยินดียิ่งต่อการผนึกกำลังของกลุ่มบุคคลที่มาแสดงเจตนารมณ์พัฒนาเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทย และพร้อมร่วมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังให้บรรลุเป้าหมายหลักของ RSPO ไปด้วยกัน

RSPO ประเทศไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมผลักดัน 5 องค์กรหลักพัฒนาเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย สร้างความร่วมมือและยกระดับการผลิตและบริโภคปาล์มน้ำมันสู่สากลและวิถีความยั่งยืน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์และอยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคและบริโภค ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม จึงเป็นวัตถุดิบขั้นต้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย และประเทศไทยเองก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก แต่มีสัดส่วนในตลาดโลกไม่มากนัก ที่ผ่านมาส่งออกและได้การรับรองมาตรฐานยังดำเนินได้น้อย ส่วนใหญ่มุ่งใช้บริโภคภายในประเทศ การรวมตัวกันของภาคีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า เครือข่ายฯ นี้ จะเป็นพลังความร่วมมือในการส่งเสริมและเพิ่มความมั่นใจในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนให้เกิดการขับเคลื่อนและการปฏิบัติร่วมกันทั้งระบบ โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูล องค์ความรู้เพื่อร่วมกันสร้างการรับรู้และความตระหนักในการผลิตและการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน การบริโภคสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงวาระแห่งชาติด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ในการใช้ทรัพยากรปาล์มน้ำมันให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดของเสียให้น้อยที่สุดด้วย

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะผู้แทนของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ประธานในการประชุมความร่วมมือและแถลงข่าวการริเริ่มพัฒนาเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในนโยบายปาล์มน้ำมันของไทย ได้กล่าวว่า กนป. มีหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบหรือเพื่อพิจารณา เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ ที่ผ่านมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการ กนป. ได้ขับเคลื่อนโยบายปาล์มน้ำมันทุกมิติ บริหารจัดการดีมานด์และซัพพลายตามหลักเศรษฐศาสตร์ โดยเพิ่มความต้องการในการใช้ทั้งในส่วนของการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าและการนำไปใช้ผสมในน้ำมันดีเซลสำหรับยานยนต์ ส่งออกผลผลิตส่วนเกิน นอกจากนี้ได้มีการสั่งการให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันขึ้นเมื่อปี 2563 โดยมอบหมายให้กระผมเป็นประธานอนุกรรมการ ปัจจุบัน กนป.ได้อนุมัติให้มีการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มใหม่ 8 ชนิด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีเป้าหมายที่จะจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งการดำเนินการตามแนวทาง RSPO ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ลูกค้าในตลาดเป้าหมายโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ ที่เป็นสมาชิกเครือข่าย RSPO ยอมรับผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มใหม่จากปาล์มน้ำมันที่ปลูกในประเทศไทย การริเริ่มและพัฒนาเครือข่าย RSPO ในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถให้ทัดเทียมกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์โอเลโอเที่สำคัญของโลกอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการ กนป. พร้อมสนับสนุนให้เกิดการบูรณาความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการผลิตและใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป

RSPO ประเทศไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมผลักดัน 5 องค์กรหลักพัฒนาเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย สร้างความร่วมมือและยกระดับการผลิตและบริโภคปาล์มน้ำมันสู่สากลและวิถีความยั่งยืน

นายอัสนี มาลัมพุช ประธานเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทยและนายกสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ได้กล่าวความรู้สึกถึงโอกาสที่ได้รับเกียรติอย่างสูงในการเป็นประธานคนแรกของเครือข่ายฯ ว่าพร้อมจะร่วมทำงานและขับเคลื่อนไปพร้อมกับองค์กรสมาชิกในการสานต่อเจตนารมย์และความมุ่งมั่นของภาคีผู้เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต่อการยกระดับด้านมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งการจะผลักดันอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มสู่วิถีความยั่งยืนในระดับสากล ได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกรปาล์มน้ำมัน โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ตลอดจนโรงงานโอลีโอเคมี โรงงานไบโอดีเซล รวมไปถึงผู้บริโภคด้วย  พร้อมกันนี้ คุณอัสนี ยังได้กล่าวปิดท้ายถึงบทบาทและวัตถุประสงค์ของเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทยว่ามี 5 เรื่องสำคัญจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนในช่วงแรกของการดำเนินงานของเครือข่าย ได้แก่ 1) การประสานและขยายภาคีการผลิตและการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในทุกระดับ 2) การผนึกกำลังทุน หรือความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของสมาชิกและเครือข่าย 3) ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการใช้ประโยชน์จากปาล์มน้ำมันที่ได้รับมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน 4 ) เผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักในการผลิตและใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน  และ 5) ส่งเสริมบทบาทการทำงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการผลักดันนโยบายและกำหนดมาตรฐานการผลิตการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนของประเทศไทยสู่สากล

โดยการประชุมความร่วมมือและแถลงข่าวการพัฒนาเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย (Thailand Sustainable Palm Oil Alliance : TSPOA) ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการสานต่อเจตนารมณ์ขององค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil : RSPO) ที่ต้องการส่งเสริมและผลักดันการผลิตและใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในด้านการค้าและบริโภคที่ยั่งยืนอันจะนำไปสู่มาตรฐานสากลและวิถีแห่งความยั่งยืนต่อไป03