วันที่ 28 เมษายน 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ  ศิลปอาชา) เป็นประธานในพิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือ “การไม่รับซื้อวัสดุมีค่าจากการเผาซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ และภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมและองค์กรเอกชน และ ผู้ประกอบการในธุรกิจรับซื้อทองแดงหรือรับซื้อวัสดุมีค่าทั่วประเทศ รวมจำนวน 118 แห่ง ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ  ศิลปอาชา กล่าวว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นประมาณ 435,000 ตัน ถูกเก็บรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 70 ตัน เท่านั้น โดยซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่มีค่า ส่วนใหญ่จะถูกขายให้ซาเล้ง รถเร่ หรือร้านรับซื้อของเก่า ส่วนซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่ไม่มีค่าจะถูกทิ้งรวมกับขยะชุมชนทั่วไป ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้มีระบบเก็บรวบรวมและกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของชุมชน รวมถึงมูลฝอยติดเชื้อ ของเสียอันตรายและกากอุตสาหกรรม อย่างถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้ สอดคล้องกับนโยบาย BCG ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจแนว โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการลดปัญหาโลกร้อน

นายวราวุธ  ศิลปอาชา
นายวราวุธ กล่าวว่า ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถือว่าเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์แต่เป็นขยะที่ยังมีวัสดุที่มีค่า สามารถนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีมูลค่าสูง เช่น ทองแดงที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลหรือหลอมเพื่อนำกลับไปผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ธุรกิจก่อสร้าง เครื่องจักร และยานยนต์ แต่ทั้งนี้วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งวัสดุมีค่าก็ต้องเป็นวิธีการที่ถูกต้องด้วย ไม่อย่างนั้นแทนที่จะเป็นประโยชน์กลับนำไปสู่การสร้างปัญหามลพิษอื่นเพิ่มขึ้นมา ซึ่งนำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้ คือ ผู้ประกอบการยินดีที่จะร่วมมือไม่รับซื้อวัสดุมีค่าที่มาจากการเผา เริ่มจากผลิตภัณฑ์ทองแดงที่มาจากการเผาสายไฟ เพราะการไม่รับซื้อจะเป็นการตัดวงจรการเผาที่ดีที่สุด เป็นการใช้ความร่วมมือแทนการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมจะร่วมเป็นหูเป็นตาไม่ให้มีการแอบซื้อ

นอกจากนี้ ทส. ยังคำนึงถึงความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอื่นอย่างต่อเนื่องที่จะสนับสนุนชุมชน – ผู้ถอดแยก ในเรื่ององค์ความรู้ เครื่องมือ เทคโนโลยี เพื่อให้การประกอบกิจการถอดแยกซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นห้ามเผาในที่โล่ง ออกข้อบังคับการประกอบกิจการที่ถูกต้อง ทำให้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผา ป้องกันการแพร่กระจายสารอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของผู้ถอดแยกและประชาชน ซึ่งต้องขอบคุณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่จะซักซ้อมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และยังร่วมสนับสนุนการยกระดับอาชีพให้กับชุมชน

นายวราวุธ  กล่าวสรุปว่า วันนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องขอความร่วมมือจากร้านรับซื้อของเก่า จากศูนย์รับซื้อ จากโรงงานหลอมโลหะ จากโรงงานรีไซเคิล ว่าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาถอดแยกเพื่อให้ได้วัสดุที่มีค่า ล้วนแต่มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไปทั้งนั้น ยิ่งเป็นสิ่งของที่มีสารอันตราย/สารเคมีเป็นองค์ประกอบ ความเป็นอันตรายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบกับประชาชนหากมีการจัดการไม่ถูกต้อง การขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรื่องนี้จะประสบผลสำเร็จได้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา