สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มองเห็นปัญหาไฟป่าหมอกควันภาคเหนือตอนบน ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลเสียทั้งทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจ จึงได้จับมือกับภาคเอกชน ร่วมต่อยอดงานวิจัยสู่โครงการนวัตกรรม “Smoke Watch : แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่าจากการเผาในที่โล่ง” เพื่อบริหารจัดการข้อมูลการแจ้งเหตุเผาไฟป่า และเข้าระงับเหตุได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่พร้อมให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อาทิ โครงการ “การสร้างเครือข่ายเพื่อป้องกันและติดตามการเผาในพื้นที่ต้นแบบ 5 ชุมชน ในจังหวัดเชียงราย ด้วยระบบติดตามการเผาผ่านระบบโทรศัพท์อัจฉริยะ (ปี 2558)” ของ ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) เพราะเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ดีที่สามารถใช้แจ้งเหตุการณ์การเผาในบริบทไฟป่าหมอกควันภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย กรณีจังหวัดเชียงราย (Smoke Watch) ผ่าน Mobile Application เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนทางภาคเหนือของไทย

ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล แห่ง มทร.ล้านนา หัวหน้าโครงการฯผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล แห่ง มทร.ล้านนา หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการต่อยอดโครงการดังกล่าวที่ทาง มทร.ล้านนา ได้ร่วมกับ วช., สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center: ADPC), ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม ไปสู่โครงการใหม่ที่มีชื่อว่า นวัตกรรม “Smoke Watch : แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่าจากการเผาในที่โล่ง สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน” ซึ่งมี นายบัณฑิต สิริมงคลเลิศกุล เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อต้องการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคม ระบบบริหารจัดการข้อมูลและการแจ้งเหตุการเผาบริบทไฟป่าหมอกควัน (Smoke Watch) จังหวัดเชียงราย ผ่าน Mobile Application

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการ Smoke Watch จะมีการแจ้งข้อมูลจุดความร้อนจากข้อมูลดาวเทียมในระบบ VIIRS และข้อมูลการเผาของชาวบ้านในชุมชน โดยจะเข้าจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ อาทิ สถานที่ วัน เวลา รูปภาพ เสียง ข้อความ ค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ และข้อมูลผู้แจ้ง โดยมีรูปแบบการแจ้งเตือน 2 ประเภท คือ การแจ้งข้อมูลการเผา (แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ป่าไม้) และการแจ้งข้อมูลเพื่อเป็นเบาะแส (แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจ) หรือ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยทันที เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่เรียบร้อยแล้วก็จะเข้าไปอัพเดทสถานะของตำแหน่งที่ได้รับแจ้งในระบบดังกล่าวต่อไป โดยที่ระบบจะใช้เทคนิคการจัดเก็บข้อมูลลงในฐานข้อมูลเพื่อประมวลผลคัดแยกข้อมูลใหม่ และข้อมูลเก่าสำหรับแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ตรงกับวัตถุประสงค์การแจ้งเตือนทั้งในรูปแบบของเสียงและภาพถ่าย ประกอบกับนำเสนอข้อมูลจุดเผาบนแผนที่ประจำวันบนแผนที่ Google Map เพื่อแสดงจุดการแจ้งเผาของพื้นที่รายวันและการแสดงข้อมูลตารางเพื่อสรุปข้อมูลการเผารายเดือน ที่สามารถแยกเป็นรายพื้นที่ได้ผ่านการคัดกรองจากข้อมูลที่ได้จากการแจ้งของประชาชน

วช. ผนึกกำลังภาคเอกชน ต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรม “Smoke Watch” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนไฟป่า แก้ปัญหาการเผาในที่โล่งสำหรับภาคเหนือตอนบนนอกจากนี้ การออกแบบระบบแอปพลิเคชัน Smoke Watch สำหรับผู้ใช้จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.จุดความร้อน VIIRS Hotspot 2.แจ้งการเกิดไฟ 3.สถิติรายงานการแจ้งไฟ และ 4.แผนที่แสดงการแจ้งไฟ อย่างไรก็ดี การแจ้งเตือน “VIIRS Hotspot” จะแสดงผลเฉพาะจุดความร้อน VIIRS ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยจะแสดงข้อมูลรายละเอียดของจุดความร้อน ที่ผู้ใช้สามารถเลือกดูข้อมูลในแต่ละจุดได้ เช่น จุดความร้อนรายตำแหน่ง จุดความร้อนรายวัน จุดความร้อนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายข้อมูลสถิติการเกิดจุดความร้อน เป็นต้น ขณะที่ปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินโครงการนี้ คือ บางพื้นที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต และการใช้งานส่วนใหญ่ประชาชนมุ่งเน้นการติดตามการเกิด Hotspot จากดาวเทียมมากกว่า การแจ้งการเกิดไฟในชุมชน เนื่องจากทางจังหวัดเชียงรายได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนแต่ละชุมชน ร่วมลาดตระเวน และ ติดตามการเกิดไฟจากดาวเทียมเป็นหลัก ส่วนเรื่องแนวทางการขยายผล “Smoke Watch” ในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยต่อไป