กระทรวงศึกษาธิการ ( 6 กรกฎาคม 2564) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ห่วงพี่น้องประชาชน หวั่นเชื้อโควิด-19 ขยายวงกว้างสู่ชุมชน สั่งการให้วิทยาลัยเกษตรฯ เตรียมพร้อมเพื่อใช้เป็นสถานที่พักคอยสำหรับผู้สัมผัสเชื้อความเสี่ยงสูงระหว่างรอผลตรวจ นำร่องวิทยาลัยเกษตรฯ สุราษฎร์ธานี โดยที่ผ่านมามีผู้ที่พักคอยรอผลตรวจหมุนเวียนแล้วกว่า 84 ราย สามารถช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนเกิดความปลอดภัย

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เปิดเผยว่า คุณหญิงกัลยา มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงขึ้น และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยได้สั่งการให้สถานศึกษาในกำกับทุกแห่ง โดยเฉพาะวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีซึ่งตั้งอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่หากทางสาธารณสุขอำเภอ หรือทางจังหวัดขอความร่วมมือมา

โดยขณะนี้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี ได้ให้การสนับสนุนสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อให้ใช้พื้นที่หอพักนักศึกษาในวิทยาลัยฯ จัดตั้งเป็นสถานที่พักคอยสำหรับผู้สัมผัสเชื้อความเสี่ยงสูง ซึ่งทางทีมสาธารณสุขอำเภอจะลงพื้นที่ในชุมชนหากพบผู้ที่สัมผัสเชื้อและมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะติดเชื้อ ก็จะแยกตัวออกมาจากชุมชนและนำมาตรวจหาเชื้อ พร้อมพักคอยที่ศูนย์พักคอยสำหรับผู้สัมผัสเชื้อความเสี่ยงสูงจนกว่าจะทราบผลการตรวจ ภายใต้การดูแลตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ปัจจุบันวิทยาลัยเกษตรฯ สุราษฎร์ธานี มีผู้ที่พักคอยรอผลตรวจอยู่กว่า 60 รายและที่ผ่านมามีผู้พักคอยเข้ามาพักหนุมเวียนไปแล้วกว่า 84 ราย

กระทรวงศึกษาธิการทั้งนี้วิทยาลัยเกษตรฯ จะให้ใช้สถานที่ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดการพักคอย ในขณะที่สาธารณสุขในพื้นที่จะส่งบุคลากรเข้ามาดำเนินการเรื่องอาหาร ความสะอาด และการควบคุมโรคภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่ถูกต้อง ซึ่งได้รับคำชมจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่าที่พักคอยสำหรับผู้สัมผัสเชื้อความเสี่ยงสูงในวิทยาลัยเกษตรฯ สุราษฎร์ธานี ถือเป็นที่พักคอยที่บรรยากาศดีที่สุดของจังหวัด

“การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีความรุนแรง คนไทยทุกฝ่ายต้องหันหน้าเขาหากัน ช่วยกัน จะช่วยได้มากหรือน้อยก็ต้องเร่งทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน คุณหญิงกัลยาได้สั่งการและกำชับให้สถานศึกษาที่กำกับ โดยเฉพาะวิทยาลัยเกษตรซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังความสามารถหากทางจังหวัดร้องขอมา ซึ่งทางวิทยาลัยฯ มีความพร้อมทั้งเรื่องของสถานที่และวัตถุดิบด้านการเกษตรที่เรามีอยู่แล้ว ภายใต้โครงการชีววิถี ที่สามารถนำวัตถุดิบมาแปรรูปจัดทำเป็นอาหารว่าง เพื่อให้ผู้สัมผัสเชื้อระหว่างพักคอยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” นางดรุณวรรณ กล่าว

ทั้งนี้คุณหญิงกัลยา ได้มอบหมายให้ ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และดร.ชาติชาย เกตุพรหม ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง เป็นผู้ประสานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ในการตั้งเป็นสถานที่พักคอยสำหรับผู้สัมผัสเชื้อความเสี่ยงสูง เป็นการช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสถานที่ที่สามารถแยกกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงนำมาตรวจหาเชื้อ และเป็นพี่พักเพื่อรอผลตรวจซึ่งหากไม่พบเชื้อก็ส่งกลับชุมชน แต่หากพบว่าติดเชื้อก็ส่งต่อโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาต่อไป ซึ่งจะช่วยให้คนในชุมชนเกิดความปลอดภัย