กระทรวงศึกษาธิการ ( 7 กุมภาพันธ์ 2565) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ห่วงประชาชน หลังผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนพุ่งทะลุหลักหมื่นทุกวัน กำชับสถานศึกษา วิทยาลัยเกษตรฯ-การศึกษาพิเศษ ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเคร่งครัด พร้อมใช้วิทยาลัยเกษตรฯ เป็นศูนย์พักคอยแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ย้ำช่วงนี้ทุกคนต้องร่วมมือกัน ครูและผู้ปกครองก็ต้องช่วยดูแลเด็กเป็นพิเศษ

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) กล่าวว่า คุณหญิงกัลยามีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธ์โอไมครอนที่ขณะนี้ทวีความรุนแรง มีผู้ติดเชื้อแตะหลักหมื่นต่อวันอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการกำชับให้สถานศึกษาในกำกับทุกแห่งโดยเฉพาะวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนประจำ ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข และประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อ หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ในโรงเรียน และชุมชน

“กระทรวงศึกษาธิการได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ขณะนี้สถานการณ์น่าเป็นห่วงมาก เพราะการติดเชื้อระบาดไปทั่ว คุณหญิงกัลยาจึงได้กำชับให้โรงเรียน ครู รวมถึงผู้ปกครอง ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ร่วมกันดูแลป้องกันเด็กๆ และครอบครัว ใส่หน้ากากเสมอ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อลดการระบาดและแพร่กระจายเชื้อ ” นางดรุณวรรณ กล่าว

นอกจากนี้คุณหญิงกัลยาได้สั่งการให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่งทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่หากทางสาธารณสุขอำเภอ หรือทางจังหวัดขอความร่วมมือมา หากต้องการใช้พื้นที่ในสถานศึกษาเป็นสถานที่พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบเชื้อโดยการตรวจแบบ ATK เพื่อแยกผู้ติดเชื้ออกจากครอบครัวและชุมชน ก่อนส่งต่อให้โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามหากมีอาการรุนแรงต่อไป โดยที่ผ่านมามีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีหลายแห่งได้ให้การสนับสนุนสาธารณสุขในพื้นที่ไปแล้ว อาทิ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี ได้ให้ใช้พื้นที่หอพักนักศึกษาในวิทยาลัยฯ จัดตั้งเป็นสถานที่พักคอยสำหรับผู้สัมผัสเชื้อความเสี่ยงสูง ซึ่งที่ผ่านมามีผู้พักคอยเข้ามาพักหนุมเวียนไปแล้วกว่า 100 ราย

นางดรุณวรรณ กล่าวต่อว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่งทั่วประเทศ มีความพร้อม โดยได้มีการเตรียมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ตั้งแต่การระบาดได้ทวีความรุนแรงในช่วงเดือนเมษายน 2564 ทั้งนี้หากหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข มีความต้องการจะใช้พื้นที่ของวิทยาลัยเกษตร ก็สามารรถประสานความร่วมมือมาได้ โดยจะสนับสนุนตามบริบทและความพร้อมของแต่ละแห่ง เพราะอาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่ยืนยันพร้อมสนับสนุน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ และลดอัตราการระบาด