สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ดำเนินการประเมินแนวโน้ม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 5 ภูมิภาค ปี 2566 ขึ้น เพื่อสำรวจแนวโน้ม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม สะท้อนมุมมอง ความคิดเห็นแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมในเชิงภาพรวม เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบถึงแนวโน้มและทิศทางของอุตสาหกรรมต่างๆ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจต่อไป
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีทิศทางที่จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง กิจกรรมต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น ในขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยแม้มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการที่ภาครัฐเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีเพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) และซาอุดีอาระเบีย จะสามารถช่วยประคับประคองการส่งออกให้สามารถทรงตัวต่อไปได้ ด้านการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน จากอานิสงส์ของอุปสงค์ที่อั้นมานานในช่วงที่ผ่านมา (Pent-Up Demand) ของนักท่องเที่ยว ประกอบกับประเทศจีนเริ่มเปิดประเทศจะเป็นแรงส่งสำคัญให้การท่องเที่ยวในประเทศของไทยฟื้นตัวกลับไปใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) เพื่อเป็นแรงหนุนสำคัญในด้านการลงทุนของประเทศ พร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย BCG Model เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งต่างๆ จะช่วยเสริมสร้างโอกาสและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ต่อไป
ส.อ.ท. ประเมินแนวโน้มอุตฯ ไทย ปี 66 ยังคงเติบโต ท่ามกลางความเสี่ยงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการเติบโตได้มีทั้งหมด 17 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ดิจิทัล, น้ำตาล, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์, ผู้ผลิตไฟฟ้า, พลังงานหมุนเวียน, เฟอร์นิเจอร์, ยา, ยานยนต์, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, หล่อโลหะ, หลังคาและอุปกรณ์, เหล็ก, และอาหารและเครื่องดื่ม โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว  ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง, การส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง และมีการเปิดตลาดใหม่ๆ, ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ยังคงผันผวน, แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ, โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในประเทศเศรษฐกิจหลัก, และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ผลจากสงครามการค้า (Trade War) และความรุนแรงของสงครามที่ขยายตัว
กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัว มีทั้งหมด 21 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ, แก้วและกระจก, เครื่องจักรกลการเกษตร, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, เครื่องสำอาง,เซรามิก, ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก, เทคโนโลยีชีวภาพ, น้ำมันปาล์ม, ปูนซีเมนต์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, พลาสติก, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น, ยาง, เยื่อและกระดาษ, รองเท้า, สิ่งทอ, หัตถกรรมสร้างสรรค์, อลูมิเนียม, และ อัญมณีและเครื่องประดับ โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน จากอานิสงส์ของอุปสงค์ที่อั้นมานานในช่วงที่ผ่านมา (Pent-Up Demand) ของนักท่องเที่ยวประกอบกับประเทศจีนเริ่มเปิดประเทศจะเป็นแรงส่งให้การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวกลับไปใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง, อีกทั้ง ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า, และการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังต้องรักษาแรงขับเคลื่อนในด้านการส่งออกควบคู่ไปกับรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิต เพื่อให้สามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไปได้ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมีการเปิดตลาดใหม่ๆส.อ.ท. ประเมินแนวโน้มอุตฯ ไทย ปี 66 ยังคงเติบโต ท่ามกลางความเสี่ยงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งเน้นตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมถึง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 13% จากงวดก่อน, โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดและยาวนานต่อเนื่อง ขณะที่ยุโรปได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตพลังงาน จึงมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนจีนที่กลับมาประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ จากการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID และเริ่มเปิดประเทศ ซึ่งอาจซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงชะลอตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยทั้งธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างปรับลดตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2566 เหลือขยายตัวได้เพียง 2.7% และประเมินการค้าโลกในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น, แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการและประชาชน โดยเฉพาะต้นทุนการกู้ยืม และฐานะการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ผลจากสงครามการค้า (Trade War) และความรุนแรงของสงครามที่ขยายตัว, รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และประสิทธิภาพแรงงาน
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อมั่นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2566 มีทิศทางที่เติบโตได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง กิจกรรมต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้การขยายตัวของอุปสงค์
ในประเทศทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้า
แม้มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ควบคู่ไปกับการที่ภาครัฐเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี เพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ จะสามารถช่วยประคับประคองการส่งออกให้สามารถทรงตัวต่อไปได้