นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายสร้างกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร หรือ Farmer Field School : FFS ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการผสานกันอย่างเหมาะสมระหว่างวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ที่จะส่งเสริมและสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ จนเกิดโรงเรียนเกษตรกรชั้นนำที่มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นวิทยากรพี่เลี้ยง และสามารถเป็นแบบอย่างการดำเนินการตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 79 แห่ง 77 จังหวัด พร้อมพัฒนาเป็นโรงเรียนเกษตรกรต้นแบบพืชเศรษฐกิจสำคัญ จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ผัก ทุเรียน อะโวคาโด มันสำปะหลัง มะพร้าว และดาวเรือง โดยในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมขยายผลการดำเนินงานโรงเรียนเกษตรกร พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้เป็นวิทยากรกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (Master Trainer : MT) อย่างต่อเนื่อง และขยายผลพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรระดับพื้นที่ (Facilitator) รวมถึงการเรียนรู้ด้วยตนเองทางระบบออนไลน์ DOAE e-Learning ประกอบกับเตรียมผลักดันศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ใน 882 อำเภอทั่วประเทศ ให้สามารถยกระดับการเรียนรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรได้ โดยเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ในหัวข้อที่มาจากความต้องการของเกษตรกร เน้นให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และก้าวทันการใช้นวัตกรรมด้านการอารักขาพืชใหม่ ๆ
จนเกิดความเข้าใจสภาพปัญหาที่ตนเผชิญอย่างแท้จริง สามารถวิเคราะห์ชนิดของศัตรูพืชในพื้นที่ที่ตนเพาะปลูกพืชได้ และรู้วิธีการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้ เนื่องจาก ศจช. เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเกษตรกรในชุมชนเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืช การใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้พี่น้องเกษตรกรในแต่ละพื้นที่สามารถวิเคราะห์และตระหนักรู้ถึงปัญหาในการประกอบอาชีพการเกษตรของตนหรือชุมชน และขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างมีทิศทางและตรงตามความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้มีการประกวด ศจช. ดีเด่น ทั้งในระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรในการร่วมแรงร่วมใจป้องกันและแก้ไจปัญหาศัตรูพืช จนสามารถยกย่องให้เป็นต้นแบบในการเรียนรู้ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่าย ศจช. กับ แปลงใหญ่ โดยเตรียมพร้อมจัดประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อน ศจช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนแปลงใหญ่ในทุกจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ผลักดันให้เกิดเครือข่ายการบูรณาการ ด้านการเกษตรในพื้นที่ สร้างช่องทางการเชื่อมโยงให้เกิดการเกื้อกูลระหว่างกัน และสร้างประโยชน์ระหว่างกลุ่มเกษตรกร รวมถึงร่วมกันกำหนดแผนการผลิตพืช การผลิตขยายและใช้ชีวภัณฑ์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และช่องทางการรวมกลุ่มเพื่อจำหน่ายสู่ตลาด รวมทั้งพร้อมที่จะขยายผลกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรไปสู่พืชเศรษฐกิจสำคัญอื่นเพิ่มเติมจากพืชเศรษฐกิจ 7 ชนิดตามที่กล่าวมา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของกรมส่งเสริมการเกษตรที่จะมุ่งให้เกษตรกรใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช ครอบคลุมพื้นที่ 882 อำเภอ ภายในปี 2570 ต่อไป