การเชิดชูบุคคลก็เป็นภารกิจหนึ่งของ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)ศ.ศ.ป. หรือ SACICT ที่ได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องทุกๆปี ภายใต้โครงการดำเนินกิจกรรมคัดสรร และเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ใน 3 สถานะ ประกอบด้วย “ครูศิลป์ของแผ่นดิน – ครูช่างศิลปหัตถกรรม – ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม”ประจำปี 2562 โดย “นางอัมพวัน พิชาลัย” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้เฟ้นบุคคลที่มีองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิมมีทักษะฝีมือเชิงช่างในงานศิลปหัตถกรรม จากทั่วประเทศกว่า 300 ราย คัดสรรผู้ที่มีทักษะฝีมือในงานศิลปหัตถกรรม มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ และมีผลงานโดดเด่นได้ประกาศเชิดชูเกียรติ พร้อมนำสุดยอดผลงาน ที่สะท้อนตัวตนของผู้ได้รับการเชิดชูผลงานในปีนี้ทุกท่าน ได้คัดเลือกบุคคลภายใต้โครงการเชิดชูเกียรติฯ ประกอบด้วย “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” จำนวน 7 ท่าน “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” จำนวน 10 ท่าน และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” จำนวน 8 ท่าน
“ผลงานทั้ง 25 ท่านนั้น ได้ผ่านการคัดสรรผลงานและคุณสมบัติของผลงานศิลปหัตถกรรม นำผลงานมาจัดแสดงภายในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่10 พร้อมทั้งเผยแพร่เกียรติประวัติ ผลงาน เทคนิคเชิงช่าง รวมถึงการถ่ายทอดแนวคิดแรงบันดาลใจในการทำงานหัตถกรรม ซึ่งการจัดงานโดยภาพรวมในปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันตลาดงานหัตถศิลป์ไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลมีความต้องการและแสวงหางานหัตถศิลป์ไปใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยน ต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่ทำให้งานศิลปหัตถกรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งาน ในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน ”
ดังผลงานที่ปรากฏ จากการคัดสรรบุคคลของ SACICT “จักษ์ภิรมย์ ศรีเมือง” วัย 31 ปี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมทอผ้าไหม (ผ้ายก/ผ้ามัดหมี่) จากอำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการคัดสรรเชิดชูเกียรติเป็น “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม”ประจำปี 2562 เป็นหนึ่งใน “ช่างทอผ้ายกสังเวียน/ผ้าไหมมัดหมี่” ที่ลือชื่อมีผลงานเป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดมหาสารคาม ช่างสืบทอดงานทอผ้าไหมมาหลายช่วงอายุตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยมีคุณแม่ฝั่น ศรีเมือง ซึ่งรักงานผ้าทอด้านนี้มากเป็นผู้สอนงานและถ่ายทอดความรู้ให้แก่คุณจักษ์ภิรมย์มาอย่างต่อเนื่อง จนได้เรียนรู้ทั้งการผ้าไหมมัดหมี่ การมัดหมี่ การทอผ้ายก ผ้าชิด ผ้าจก ผ้าเกาะ ผ้าหลวง ฯลฯ หมั่นศึกษาและลงมือทำด้วยตนเองทุกกระบวนการ ตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อม ทอ เป็นต้น ทำให้รอบรู้งานในงานทอผ้าเกือบทุกอย่าง โดยเฉพาะการทอผ้ายกสังเวียน และผ้าไหมมัดหมี่ ที่สามารถอ้างอิงได้จากชุมชน
จักษ์ภิรมย์ เล่าว่า การทอผ้ายกสังเวียนเป็นการทอที่ค่อนข้างยาก เพราะผ้าลายบางอย่างต้องใส่เกษรเกาะสลับสี แยกกาบ แยกใบ เพื่อจะแยกสีออกจากกันอีก ตนได้พัฒนาทักษะฝีมือเชิงช่างสามารถทำได้มากสุดถึง 7 กระสวย ได้พยายามสร้างสรรค์งานผ้าอันประณีตงดงามออกมา โดยผ้าหนึ่งผืนได้ผสมผสานการทอหลากหลายเทคนิคเข้าด้วยกัน เอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ผ้าผืนหนึ่งๆ ได้รวบรวมเทคนิคการทอผ้าไว้ถึง 3 เทคนิค เป็นการทอผ้าแบบกรวยเชิง 3 ชั้น คือ พื้นผ้าจะมีการทอสลับสีด้วยเทคนิคการมัดหมี่เป็นสีต่างๆ เช่น แดง น้ำเงิน ม่วง ส้ม น้ำตาล ลายท้องผ้าพบนิยมทอผ้าพื้น และการยกดอก แสดงถึงความมีฝีมือของช่างทอ ถ้าสามารถทำผ้ายกสังเวียนได้ทั้งผืน จะเป็นที่ยอมรับนับถือในความเป็นช่างที่มีฝีมืออย่างมาก
“ความโดดเด่นของการใช้สีอยู่ที่ การย้อมสีซึ่งสีธรรมชาติเป็นหลักสามารถย้อมได้มากกว่า 3 สีต่อผืน สูงสุดย้อมได้ 5 สีต่อผืน ที่ผ่านมา ผลงานสำคัญๆ ที่มีความโดดเด่นและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คุณจักษ์ภิรมย์ คือ ผ้าสังเวียนกรวยเชิงซ้อน 3 ชั้น ซึ่งเป็นผ้าทอสำหรับบุคคลสำคัญระดับเจ้าเมือง ขุนนางชั้นสูง และพระบรมวงศานุวงศ์ การทอผ้านิยมทอผ้าด้วยเส้นทอง ลักษณะกรวยเชิงจะมีความละเอียด อ่อนช้อย ลวดลายหลายลักษณะประกอบกัน ริมผ้าจะมีลายขอบผ้าเป็นแนวยาวตลอดทั้งผืน มีความวิจิตร งดงาม สูงค่าสมกับเป็นผ้าที่นำไปใช้ในพระราชสำนัก” จักษ์ภิรมย์ กล่าวและยังบอกอีกว่า
ไม่เพียงต้องการอนุรักษ์งานผ้ายกสังเวียนที่ปัจจุบันแทบจะสูญหายไปแล้ว แต่ผมยังอยากที่จะสร้างพื้นฐานของความยั่งยืนให้กับชุมชน แบบที่ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ “ผ้ายกสังเวียนกรวยเชิงแบบโบราณ” ที่ได้สร้างสรรค์ออกมานั้น ยึดลวดลายตามแบบภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น ลายดอกรังผึ้ง ลายขอขจร ลายขอน้อย และโดยเฉพาะ “ลายสร้อยดอกหมาก” ซึ่งเป็นลายผ้าโบราณลายดั้งเดิมของท้องถิ่นอีสาน เป็นลายเก่าแก่ของบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านในแถบภาคอีสานโดยเฉพาะ และจังหวัดมหาสารคามได้กำหนดให้เป็น “ลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัด”
ลายผ้าทอโบราณตามแบบบรรพบุรุษของชาวบ้านแถบจังหวัดมหาสารคามมีอยู่หลายลายด้วยกัน แต่นับวันลายเก่าแก่เหล่านี้จะสูญหายไปจากวิถีชีวิตการทอผ้าของชาวบ้าน เนื่องจากความยากในการทอ โดยเฉพาะลาย “สร้อยดอกหมาก” ลายประจำจังหวัดมหาสารคาม” ซึ่งเป็นลายผ้าโบราณลายหนึ่งที่มีความละเอียดวิจิตรบรรจงและต้องใช้เวลาในการทอมาก ผู้ทอต้องมีความรู้ในเรื่องของลาย และมีฝีมือความชำนาญทั้งในการมัดและการทอ ปัจจุบันที่มีการสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาทอผ้าลายนี้กัน ทำให้กลุ่มทอผ้าไหมทุกอำเภอของจังหวัดมหาสารคาม หันมาผลิตผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากกันมากขึ้น
ทุกวันนี้ คุณจักษ์ภิรมย์ได้เดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ “ผ้ายก-ผ้ามัดหมี่” อย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด เป็นความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้และเติบโตต่อไปบนรากฐานชุมชนที่มั่นคง และก็ยังคงเผยแพร่ความรู้ให้แก่ชาวบ้านและผู้สนใจทั่วไป สร้างหมู่บ้านให้เป็นสถานที่แห่งการสร้างสรรค์งานทอได้อย่างยั่งยืน และเผยแพร่ความรู้ด้านการทอผ้าจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจมาจวบจนถึงปัจจุบัน