กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. สานต่อแนวทางการพัฒนาชุมชนภายใต้โครงการจากสำนักงาน กสทช. USO Net ชายขอบ อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเน็ตประชารัฐ โดยมอบทุนสนับสนุนในการพัฒนาการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนในชุมชนและส่งเสริมโอกาสทางการค้า ตลอดจนมุ่งหวังให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ของชุมเมือง ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ผ่านโครงการพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสและการค้าให้แก่ชุมชนในพื้นที่ USO Net ชายขอบ

นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน ต้องให้ความสำคัญในส่วนของพัฒนาพื้นที่ทั่วประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะความสำคัญในพื้นที่ชุมชนในต่างจังหวัด หรือ พื้นที่ห่างไกล หรือ อาจเรียกว่าชุมชนชายขอบของประเทศ ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีบทบาทสำคัญ โดยที่ผ่านมาภาครัฐ สำนักงาน กสทช. เดินหน้าพัฒนาโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบมาแล้วกว่า 3,920 หมู่บ้าน มุ่งหวังให้ประชาชน ในพื้นที่ชายขอบได้รับการเข้าถึงการบริการด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างทั่วถึง เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งภาคการศึกษา การสร้างรายได้ให้แก่การท่องเที่ยวในพื้นที่

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสและการค้าให้แก่ชุมชนในพื้นที่ USO Net ชายขอบ ในพื้นที่ชุมชนตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นการเดินหน้าผลักดันศูนย์ต้นแบบ Digital Literacy ของชุมชน พร้อมทั้งออกแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ สังคมในชุมชน ตอบโจทย์การใช้ชีวิต เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการสร้างโอกาสทางศึกษาให้คนในพื้นที่ พร้อมกันในชุมชนปิล็อกในปัจจุบันยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ของประเทศไทย ซึ่ง กทปส. มั่นใจว่าศูนย์ต้นแบบ Digital Literacy ของชุมชนจะสามารถผลักดันให้เทคโนโลยีและระบบอินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสให้กับชุมชน ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ตลอดจนศูนย์ดังกล่าวจะเป็นการเชื่อมสังคมในชุมชนเข้าถึงกัน เกิดการรวมกลุ่มเกิดการฝึกอบรมมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง และสามารถเดินหน้าในด้านต่าง ๆ ให้ชุมชนได้ด้วยตัวเองผ่านกระบวนการเรียนรู้ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ นี้ คือ มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อเป็นเครื่องมือในการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ ขยายศักยภาพในทางเศรษฐกิจของคนให้กับชุมชน ประชาชนในพื้นที่สามารถให้บริการ USO Net อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการพัฒนาความรู้ เข้าถึงโอกาสในการสร้างรายได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ขยายช่องทางการค้าขายสินค้า สามารถสานต่อธุรกิจต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์ต้นแบบ Digital Literacy ของชุมชนตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีจะเป็นแบบอย่างที่สามารถนําไปพัฒนาหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ภายในเขตบริการ USO Net ได้ในอนาคต

“ศูนย์ต้นแบบ Digital Literacy ของชุมชนตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จัดตั้งขึ้นจำนวน 1 แห่ง ได้ส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ความเร็วที่ อย่างน้อย 30/5 mbs) พร้อมจัดให้มีบุคลากรประจําศูนย์ อย่างน้อย 2 คน วางแผนจัดทำสื่อการเรียนรู้ประกอบการฝึกอบรมในแต่ละเรื่องในรูปแบบสื่อมัลติมีเดียหรือสื่ออินโฟกราฟฟิคจำนวนอย่างน้อย 20 สื่อ เผยแพร่ในเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ พร้อมทั้งฝึกอบรมผู้นำชุมชน จํานวนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง เพื่อสร้างการพัฒนาด้าน Digital Literacy ให้เข้าถึงการศึกษาและการค้าบริการด้านการท่องเที่ยวให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งโครงการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นประตูสู่โอกาสในการเดินหน้าพัฒนาชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ และในอนาคตจะเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์สู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงยากอย่างแน่นอน” นายนิพนธ์ กล่าวสรุป