วันที่ 10-14 เมษายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นำโดย นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาการอำเภอ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบ ดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง งบกรมการพัฒนาชุมชน ประจำปี พ.ศ.2564 กิจกรรมการจัดทำแผนพัฒนาถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมาย 30 ครัวเรือน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองและชุมชนอย่างมีทิศทางสอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ บ้านข่าโคม หมู่ที่ 1 ตำบลปะอาว อำเภอเมืองอุบลราชธานี / บ้านหนองตอแก้ว หมู่ที่ 4 ตำบลขี้เหล็ก อำเภอเมืองอุบลราชธานี / บ้านสวนปลายฟ้านาดูน หมู่ที่ 7 ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน และในเขตพื้นที่อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ด้วยความเชื่อมั่นในแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ว่าสองสิ่งนี้จะนำพาประเทศให้อยู่รอด และมุ่งหวังที่จะให้ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ได้เกิดการเรียนรู้ที่เรียกว่า Learning by doing สามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน การเรียนรู้จากการปฏิบัติจะทำให้เกิดการปรับวิธีคิด ปรับวิธีการ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับภูมิสังคม อีกทั้งยังมีความรู้ความเข้าใจหลักการแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา” ให้สามารถพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบร่วมกันของชุมชน โดยพื้นที่เหล่านี้จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน ครัวเรือนเหล่านี้จะเป็นครูที่สอน หรือบอกเล่าถ่ายทอดให้คนอื่นต่อไป

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบกรมการพัฒนาชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กิจกรรมที่ 5 พัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” : โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 25 อำเภอ ทั้งสิ้น จำนวน 791 แปลง แยกเป็นพื้นที่ 1 ไร่ 620 แปลง และพื้นที่ 1 ไร่ 171 แปลง รวมงบประมาณ 45,808,000 บาท จึงต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ และเกิดประโยชน์สุขต่อพี่น้องประชาชนโดยเร็ว เป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ในเรื่องของการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความสุขแก่พี่น้องประชาชนในชุมชน ให้สามารถพึ่งตนเองได้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความสุขที่ยั่งยืน อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : ภาพข่าว โดย งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี