กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงกรณีการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแก้ไขปัญหาที่ดิน เผยมีพื้นที่เป้าหมายที่ผ่านตามหลักการชัดเจน และประชาชนในพื้นที่รับทราบ
ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวตามสื่อต่างๆว่า เครือข่ายองค์กรประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า เรียกร้องให้รัฐบาลยุตินโยบายทวงคืนผืนป่า หยุดแย่งที่ดินชุมชน เนื่องจากแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า เป็นนโยบายที่มุ่งบังคับใช้กับเอกชนหรือนายทุน แต่ในระดับปฏิบัติกลับส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย จึงเกิดเป็นข้อพิพาทของรัฐในหลายกรณี เช่น ชุมชนเก้าบาทอำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ชุมชนโคกยาว และชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ,บ้านจัดระเบียบ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร อุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ บ้านคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร โดยเฉพาะกรณีล่าสุดคือชุมชนบ้านบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ที่ถูกปิดหมายบังคับคดีและมีกำหนดรื้อถอนในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ แม้จะมีข้อยุติในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่า สวนป่าคอนสารทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร และมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ผู้เดือดร้อนทั้ง 277 ราย ตั้งแต่ปี 2548 เครือข่ายองค์กรประชาชน จึงขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยทบทวนมติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน 2562 และแก้ไขพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ 2562 ,พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ 2562 ,พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ. ศ. 2562 รวมถึงแก้ไขคู่มือปฏิบัติการแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ โดยเปิดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน พร้อมให้รัฐบาลหามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ์ในที่ดินทำกิน นั้น
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้ดำเนินการตามนโยบายแนวทางมติคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเห็นชอบในหลักการตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ในพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) โดยราษฎรผู้อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ ก่อนและหลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้มีการสำรวจเตรียมความพร้อมของชุมชน ก่อนที่จะมีการดำเนินการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ตามกฎหมาย ภายหลังที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ เพื่อให้สามารถอนุญาตให้ราษฎรอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูลธรรมชาติภายในเขตป่าอนุรักษ์ได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน โดยยึดหลักการและแนวทาง ดังนี้
1. หลักการจัดการพื้นที่ เพื่อให้คงเจตนารมณ์ของการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ป่า
เพื่อการอนุรักษ์ ชุมชนที่จะได้รับการพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยเดิม ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกพื้นที่ ต้องมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน และเป็นการให้สิทธิ์ทำกินมิให้เอกสารสิทธิ์
2. แนวทางการดำเนินการจัดการพื้นที่ ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก คือ การสำรวจการครอบครองที่ดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ (Zoning) เพื่อให้ได้ข้อตกลง “แนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์”
เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ในรูปแบบการประชาคมของชุมชน โดยมีคณะทำงาน/คณะกรรมการดำเนินการ
2 ระดับ ที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด คือ คณะทำงานสำรวจการครอบครองที่ดิน ระดับพื้นที่
และคณะกรรมการพิจารณาผลการสำรวจการครอบครองที่ดิน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์หรือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขา พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ให้ได้ข้อยุติก่อนรายงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อพิจารณาต่อไป
3. เมื่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะนำ “เขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์” ที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันแล้ว พร้อมแผนผังแปลงที่ดินและบัญชีรายชื่อราษฎร มาจัดทำเป็นโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติหรือคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แล้วแต่กรณีให้ความเห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะตราเป็น “พระราชกฤษฎีกา” มีระยะเวลาโครงการฯ ตามพระราชกฤษฎีกาคราวละไม่เกิน 20 ปี เพื่อให้ราษฎรสามารถอยู่อาศัยและทำกินภายในเขตป่าอนุรักษ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562)
ทั้งนี้ ผลการดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 จากพื้นที่เป้าหมายพื้นที่ครอบครองของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งประเทศ 215 ป่า 3,973 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 4.7 ล้านไร่ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะได้เร่งรัดสำรวจและบริหารพื้นที่ ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำผลการดำเนินการมาเสนออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
อนึ่ง สำหรับในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีพื้นที่ซึ่งราษฎรมีการเรียกร้องสิทธิเกี่ยวกับการยื่นขอดำเนินการโฉนดชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน ๗๔ ชุมชน และได้กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาฯ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวย่อมได้รับการคุ้มครองตามนโยบายของรัฐ และกรมอุทยานฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยตรง และได้มีการประชุมไปแล้ว ๒ ครั้ง โดยที่ประชุมมีมติ กำหนดหมู่บ้านนำร่องในการดำเนินการ รวม ๑๖ หมู่บ้าน ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดไว้ในแผนปฏิบัติงาน ปี ๒๕๖๒ รวมทั้งจัดแผนงานในการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน และจะดำเนินการเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๖๒ สำหรับกับกรณีการประกาศเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ,เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า,เขตห้ามล่าสัตว์ป่า) ตามกฏหมายซึ่งได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ขั้นตอนการประกาศจัดตั้งยังจำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำชุมชน ตลอดจนการผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ในระดับจังหวัด ก่อนที่จะเสนอเข้าคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าตามขั้นตอน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ได้ผ่านกระบวนการประชามติจากผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับพื้นที่มาแล้ว