พื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ มีราษฎรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหลวงฝั่งทิศตะวันตกกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออก ลักษณะพื้นที่ทอดยาวในแนวทิศเหนือ – ใต้เป็นแนวขวางทิศทางการไหลของน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จะมีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลผ่านเข้าตัวเมือง เพื่อไหลออกทะเล ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีมากขึ้น ทำให้มีการบุกรุกแนวเขตคลองธรรมชาติ ส่งผลให้คลองธรรมชาติมีขนาดเล็กลงและตื้นเขิน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการระบายน้ำในเมืองออกสู่ทะเล ทำให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองนครนครศรีธรรมราช และบริเวณใกล้เคียงเกิดปัญหาอุทกภัยซ้ำซากเป็นประจำทุกปี

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน

เมื่อปี 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาอุทกภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยให้ขุดลอกคลองระบายน้ำเดิม และขุดคลองระบายน้ำใหม่เพิ่ม เพื่อช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลให้รวดเร็วขึ้น เพื่อเป็นการสืบสาน รักษาและต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 อนุมัติให้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้วงเงินงบประมาณ 9,580 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 6 ปี ( ปี พ.ศ.2561 – 2566 )

โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่โครงการครอบคลุม 7 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ 4 ตำบลในเขตอำเภอเมือง ประกอบด้วยตำบลไชยมนตรี ตำบลท่าเรือ ตำบลท่าไร่ และตำบลบางจาก และ 3 ตำบลในเขตอำเภอพระพรหม ประกอบด้วย ตำบลนาสาร ตำบลนาพรุ ตำบลช้างซ้าย โดยกรมชลประทานจะดำเนินการขุดคลองระบายน้ำใหม่ 3 สาย รวมความยาว 18.64 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบ และปรับปรุงคลองระบายน้ำเดิม 1 สาย ได้แก่ งานปรับปรุงคลองวังวัว ความยาว 5.9 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบ และงานปรับปรุงคลองท่าเรือ-หัวตรุด (ซึ่งเป็นคลองที่แยกจากคลองวังวัว) ความยาว 11.90 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะสามารถระบายน้ำรวมได้สูงสุดถึง 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มอีก 7 แห่งเพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำเค็มหนุนในหน้าแล้งนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินงานโครงการพระราชดำริ โครงการตามนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช อย่างแท้จริง ซึ่งความสำเร็จของโครงการจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ตลอดจนการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมการดำเนินโครงการ เริ่มด้วยการเร่งจัดหาที่ดิน จำนวนทั้งหมด 1,770 แปลง รวมทั้งสิ้น 2,616 ไร่ ตามแผนของโครงการฯ ขณะนี้ได้สำรวจปักหลักเขตไปแล้ว 1,712 แปลง จำนวน 2,534 ไร่ หรือร้อยละ 96.87 ดำเนินการจ่ายค่าทดแทนที่ดินแล้ว 1,208 แปลง จำนวน 1,751 ไร่ หรือกว่าร้อยละ 66.93 ของเนื้อที่ทั้งหมด เป็นเงิน 768.70 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคม 2563 นี้ จะดำเนินการจ่ายค่าทดแทนที่ดินอีก 161 แปลง จำนวน 183 ไร่ เป็นเงิน 101.82 ล้านบาท รวมเป็นร้อยละ 73.92 กรมชลประทานจะเร่งดำเนินการจ่ายค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จตามระเบียบขั้นตอนราชการต่อไป

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน

ปัจจุบัน โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช มีความก้าวหน้า ดังนี้ งานเพิ่มประสิทธิภาพคลองระบายน้ำท่าเรือ-หัวตรุด มีความก้าวหน้าร้อยละ 38 งานประตูระบายน้ำคลองท่าเรือ-หัวตรุด ช่วงกม.0+215 ก้าวหน้าแล้วกว่าร้อยละ 59 และ กม.9+200 ก้าวหน้าไปแล้วร้อยละ 60 ส่วนงานก่อสร้างคลองระบายน้ำเพิ่มใหม่ 3 สาย พร้อมอาคารประกอบนั้น กรมชลประทานได้จ้างเหมาดำเนินการ แยกเป็นงานจ้าง 3 สัญญาด้วยกัน อายุสัญญาทั้ง 3 โครงการ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างช่วงปี 2562 และแล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยกรมชลประทานได้เร่งส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้

เมื่อโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2566 จะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโดยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณร้อยละ 90 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ทั้งในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียงได้แก่ ตำบลท่าวัง ตำบลคลัง ตำบลท่าซัก ตำบลปากนคร ตำบลท่าไร่ ตำบลบางจาก ตำบลท่าเรือ ตำบลมะม่วงสองต้น ตำบลไชยมนตรี อำเภอเมือง และพื้นที่บางส่วนของอำเภอพระพรหม ได้แก่ ตำบลช้างซ้าย ตำบลนาพรุ ตำบลนาสาร
คิดเป็นครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้มากถึง 5.50 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์สองฝั่งคลองระบายน้ำอีก 17,400 ไร่