สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดงานแถลงข่าว การประกวดออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ ๑๓ (GIT’s World Jewelry Design Awards 2019) และ การประกวดพลอยเจียระไน

เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดสามารถของนักออกแบบ และ ช่างเจียระไนพลอยรุ่นใหม่ สู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการในปัจจุบัน

โดย มีนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับเป็นประธาน ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ห้อง Chadra Ballroom ๑

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบัน GIT

เปิดเผยว่า โครงการประกวดออกแบบเครื่องแบบ ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๓ ภายใต้หัวข้อ “Blue by Day, Green By Evening, Red by Night” เน้นการออกแบบเครื่องประดับที่มีอัญมณีน้ำเงิน อัญมณีสีแดง หรือ อัญมณีสีเขียว เป็นองค์ประกอบหลักในชิ้นงาน อีกทั้งยังได้จัดการประกวดพลอยเจียระไน สำหรับช่างเจียระไนพลอยในจังหวัดจันทบุรี และช่างเจียระไนจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเจียระไนรวมถึงช่างเจียระไนได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือให้เข้าสู่วงการมาตรฐานระดับโลก ชิงเงินรางวัล มูลค่ารวมกว่า ๑ ล้านบาท หรือ ๓๕,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ โดยปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดออกแบบเครื่องประดับ กว่า ๓๐๐ แบบวาดจากทั่วโลก ซึ่งในปีนี้เราหวังว่าจะมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมส่งผลงานมากกว่า ๔๐๐ ผลงาน จากทั่วโลก

ที่ผ่านสถาบันได้การจัดประกวดไปแล้ว ๑๒ ครั้ง สามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่นักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก อาทิ นางสาวสุพัจนา ลิ่มวงศ์ ผู้ชนะเลิศการประกวดในปี ๒๐๑๘ ภายใต้หัวข้อ The Pearl of Wisdom – Illumination from under the Surface ที่ปัจจุบันสามารถก่อตั้งแบรนด์ La Orr Ornaments ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องประดับร่วมสมัยระหว่างโลหะมีค่าและผ้าไหม ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้
และนางวิชุดา แตระพรพาณิชย์ ผู้ชนะเลิศการประกวดในปี ๒๐๑๓ ภายใต้หัวข้อ Cubism จากการเป็นแม่บ้านและนักออกแบบอิสระ ปัจจุบันได้เปิดธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของตนเอง ในชื่อแบรนด์ Wida Jewelry เป็นงานเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองฝังอัญมณีแท้ ซึ่งมีการออกบูธทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิเช่น งาน Mega Show 2018 ณ ประเทศฮ่องกง และงาน Tokyo Fashion World 2019 ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
การประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ ๑๓ นี้ เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ อาทิ นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักออกแบบมืออาชีพ สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ – ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ และจะทำการตัดสินรอบคัดเลือกในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ โดยจะคัดเลือก ๓๐ ผลงานออกแบบ และ ๘ ชิ้นงานที่ได้คะแนนสูงสุดไปผลิตเป็นเครื่องประดับจริง โดยการประกวดแบ่งออก ๓ ประเภท คือ รางวัลประเภทเครื่องประดับที่ใช้พลอยทับทิบ หรือพลอยไพลิน หรือพลอยเนื้ออ่านในเฉดสีที่ใกล้เคียง รางวัลประเภทเครื่องประดับที่ใช้พลอยเพริโด หรือพลอยเฉดสีใกล้เคียง และรางวัลประเภท Popular Design Award ๒๐๑๙ โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวด จะต้องส่งออกแบบผลงานแบบวาดที่ตรงกับหัวข้อ จำนวนไม่ต่ำกว่า ๓ ชิ้นใน ๑ ชุดหรือคอลเลคชัน เช่น ต่างหู แหวน กำไล เป็นต้น และสามารถส่งผลงานได้ท่านละไม่เกิน ๓ คอลเลคชัน โดยสามารถส่งผลงานการออกแบบตัวจริง หรือส่งไฟล์ภาพผลงานการออกแบบ ผ่านเว็บไซต์ www.gitwjda.com หรือส่งผลงานมายังสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เลขที่ ๑๔๐,๑๔๐/๑-๓, ๑๔๐/๕ อาคาร ITF Tower ชั้น ๓ ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ ๑๐๕๐๐ ภายในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒สำหรับการประกวดพลอยเจียระไน แบ่งการประกวดออกแบบ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ รางวัลประเภทช่างเจียระไนจันทบุรี และ ช่างเจียระไนพลอยทั่วไป โดยผู้เข้าแข่งขันสามารถส่งพลอยที่เจียระไนแล้วมายังสถาบันได้ท่านละไม่เกิน 2 เม็ด โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันสามารถใช้พลอยสังเคราะห์ หรือพลอยเนื้ออ่อน โดยไม่จำกัดสี และจำนวนเหลี่ยมเจียระไน ขนาดความยาวพลอยประมาณ ๒๕ มิลลิเมตร โดยเจียระไนเป็นรูปทรง Cushion และ Fancy Cut (Mixed Cut) พลอยทุกเม็ดจะต้องบรรจุกล่องให้เรียบร้อย โดยมีรายละเอียดที่ชัดเจน และสามารถส่งได้ด้วยตนเอง หรือส่งไปรษณีย์มายังสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

“สถาบันกำหนดจัดงานตัดสินรอบชิงชนะเลิศทั้งสองประเภท ในเดือน กันยายน ๒๔๖๒ และจัดงานประกาศผลและมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดออกแบบเครื่องประดับ และประกวดพลอยเจียระไน พร้อมด้วยนิทรรศการแสดงผลงานของผู้เข้าประกวด ภายในงานแสดงสินค้า “เทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี ๒๐๑๙” เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประกวดครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบ และ ช่างเจียระไนพลอย สู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย

เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีไทยให้ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจร” นางดวงกมล เจียมบุตร กล่าวปิดท้าย