สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมครั้งใหญ่ CEO Innovation Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ “Empowering the Next Gen for the Future: ขุมพลังคนรุ่นใหม่แห่งอนาคต”

โดยได้รับเกียรติจาก ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาเป็นประธานในการเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Next Gen, Science, Innovation & Entrepreneurship: New Waves of the Thai Economy” โดยกล่าวตอนหนึ่งในเรื่องของการสร้างกำลังคนและสร้างองค์ความรู้ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถผลิตบัณฑิตตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรมได้ทันที ดังนั้นมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องเข้ามาร่วมมือกับภาคเอกชน ป้อนกำลังคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชนต้องเข้ามีส่วนร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระยะสั้นในลักษณะหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non -degree) ในลักษณะการฝึกอบรมในงานที่ทำ (On the job training) ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง ลักษณะการเรียนการสอนจะไม่มุ่งเน้นที่วุฒิการศึกษา เพราะเป็นการศึกษาที่ใช้เวลานานเกินไปไม่ทันกับความต้องการของภาคเอกชน บทบาทมหาวิทยาลัยต้องสร้างนวัตกรรม และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่จากคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ โดยทั้งหมดนี้กระทรวง อว. มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต จึงเรียกว่าเป็นกระทรวงเพื่ออนาคต ต่อจากนี้การพัฒนาเศรษฐกิจจะเปลี่ยนรูปแบบไปมาก เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก Startups ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ บทบาทของกระทรวงนี้มีหน้าที่ในการสร้างคนรุ่นใหม่ ซึ่งในอนาคตการเติบโตของธุรกิจจะไม่ใช่เกิดบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่จะเกิดการพัฒนาธุรกิจในโมเดลใหม่ๆ ที่เราเรียกว่า “New Business Platform” จะมีการทำงานร่วมกันของ Startups ซึ่งเริ่มจากการเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางจำนวนมากเป็นพันๆ หรือหมื่นๆ ราย ทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มเดียวกันก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานมหาศาล

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดเตรียมคนไทยในศตวรรษที่ 21 เป็นหนึ่งใน 12 นโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิต รัฐบาลจึงได้อนุมัติงบประมาณปี 2563 เพื่อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ด้วยเม็ดเงิน 24,645 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อผลักดัน 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1. การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2. การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ใหญ่ของสังคม 3. การวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 4. เพื่อพัฒนาพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โดย 4 แพลตฟอร์มข้างต้น จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศได้ อาทิ BCG in Action โครงการปักธงของกระทรวงที่จะสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ BCG ได้ถึง 4.4 ล้านล้านบาท สร้างงานรายได้สูง 8 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้เกษตรกรเพิ่มเป็น 150,000 บาท/คน/ปี (ปัจจุบัน รายได้เกษตรกร 58,000 บาท/คน/ปี) ลดนำเข้าแร่ 16 ล้านตัน/ปี ตลอดจนลดขยะ 3 ล้านตัน/ปี ซึ่งทั้งหมดนี้ คาดว่าจะเห็นผลได้ในปี 2567 นอกจากนี้ ยังมีโครงการชุมชนนวัตกรรม, Startup, Frontier research, Reskill/upskill ตลอดจนโครงการ Reinventing University System เป็นต้นนอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายปั้นบุคลากรที่มีคุณภาพ จากการอัดฉีดงบประมาณเพิ่มขีดความสามารถด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จะเพิ่มจำนวนสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้เท่ากับ 50 รายการ ต่อประชากร 1,000,000 คน และสามารถผลิตผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชา STEM คือ วิชาที่เกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และ คณิตศาสตร์ (Mathematics) เพิ่มเป็น 40% ต่อผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2565 จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 34% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นสัดส่วน 50%
ทั้งนี้ เป้าหมายการผลิตบุคลากรที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น สอวช. มั่นใจว่าจะสอดคล้องไปกับความต้องการในตลาด จากดำเนินโครงการสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม ในปี 2562 พบว่า บริษัทในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-curve มีความต้องการบุคลากร ระหว่างปี 2562 – 2566 จำนวนทั้งสิ้น 107,045 ตำแหน่ง แบ่งออกเป็น อุตสาหกรรมดิจิทัล 34,505 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 29,735 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 20,153 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ 12,816 ตำแหน่ง และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ 9,836 ตำแหน่ง