เมื่อวันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562 ช่วงเวลา 08.00-17.00 น. ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามา การ์เด้นส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้จัดกิจกรรมสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีและนิทรรศการผลงานวิจัยกลุ่มเรื่องอาหาร “Food Revolution : ปฏิวัติความคิด ร่วมพลิกธุรกิจอาหารอนาคต” โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นการสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยกลุ่มเรื่อง “อาหารสุขภาพและความงาม” โดยมี นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและกล่าวเปิดการสัมมนา
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร
เปิดเผยว่า สวก. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารทุนวิจัยมุ่งเป้าเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน : กลุ่มเรื่องอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและการค้า ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมุ่งเน้นกรอบวิจัย 4 เรื่อง ได้แก่ 1) ความมั่นคงอาหาร (มีปริมาณอาหารที่เพียงพอ ประชาชนเข้าถึงได้ มีคุณค่าทางด้านโภชนาการและปลอดภัย) 2) การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร 3) อาหารศึกษา และ 4) การบริหารจัดการ และยังได้บริหารทุนวิจัยภายใต้แผนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยตอบสนองนโยบายรัฐบาล กลุ่มเรื่อง Food Valley ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการแปรรูปให้มีผลผลิตสูง มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐานและมีคุณค่าทางโภชนาการ
สวก. ได้จัดกิจกรรมสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีและนิทรรศการผลงานวิจัยกลุ่มเรื่องอาหารฯ “Food Revolution : ปฏิวัติความคิด ร่วมพลิกธุรกิจอาหารอนาคต” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยกลุ่มเรื่องอาหารฯ รวมทั้งส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถนำผลจากงานวิจัยไปใช้ในการบริหารจัดการใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจหรือใช้ในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับกิจกรรมสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยกลุ่มเรื่องอาหาร ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะ ในวันนี้มีผลงานวิจัย จำนวน 23 โครงการ โดยมีผลงานไฮไลท์ อาทิ 1) เครื่องดื่มข้าวสินเหล็กเพื่อสุขภาพ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสร้างสุขภาพที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตร ชีวเคมี และโลหิตวิทยา 2) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโปรตีนสูงจากเนื้อไก่ส่วนอก ในรูปแบบขนมอบกรอบและอัดเม็ด สามารถรับประทานเป็นอาหารว่าง มีประโยชน์ต่อร่างกาย ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติไม่ใส่สารปรุงแต่ง 3) ชุดอาหารปรับเนื้อสัมผัสเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้ที่มีปัญหาการบดเคี้ยวและการกลืนอาหาร ต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารนุ่มเพื่อผู้สูงอายุ โดยอ้างอิง ระดับความอ่อนนุ่ม ตามเกณฑ์ Universal Design Food จากประเทศญี่ปุ่น โดย สวก. คาดว่าองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยที่นำมาเปิดตัวในวันนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ ภายในงานยังได้มีการจัดพิธีลงนามสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยให้แก่ ผู้ประกอบการ จำนวน 4 ราย ได้แก่
1) บริษัท โบนันซ่าเทค จำกัด อนุญาตให้ใช้สิทธิในโครงการ “การพัฒนาแอนโธไซยานินเม็ดจากลูกหม่อนสกัดเป็นอาหารเสริมเพื่อการต้านอนุมูลอิสระ (ปีที่ 1-2)”
2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส แอนด์ เอ รีเอเจ็นท์ แล็บ อนุญาตให้ใช้สิทธิในโครงการ “การพัฒนาต้นแบบชุดตรวจแลมป์สำเร็จรูปพร้อมอุปกรณ์ของเชื้อ Vibrio cholerae, V. parahaemolyticus และ E. coli สายพันธุ์ 0157:H7 ที่ปนเปื้อนในอาหาร เพื่อใช้ร่วมกับเครื่องตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าแบบรวดเร็วขนาดพกพา”
3) บริษัท โปรเจ็คฟิลด์ จำกัด อนุญาตให้ใช้สิทธิในโครงการ “การควบคุมข้าววัชพืชและวัชพืชด้วยเทคนิคสารต้านพิษในนาข้าว”
4) บริษัท ศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร จำกัด อนุญาตให้ใช้สิทธิ โครงการ “เปปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากอุตสาหกรรมไก่”
และพิธีลงนามสัญญาร่วมสนับสนุนทุนอุดหนุนโครงการวิจัยการเกษตร จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการ “การทดสอบการผลิตเส้นจากแป้งข้าวคล้ายบะหมี่ในระดับอุตสาหกรรม” ระหว่าง สวก. กับ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด