น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านธุรกิจสุกร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่าบริษัทตระหนักดีถึงอันตรายของโรคASFในสุกร ที่มีต่อเกษตรกร ต่อภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร และต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงวางมาตรการป้องกันโรคดังกล่าวอย่างเข้มงวด แม้จะมีระบบBiosecurity ที่สามารถป้องกันโรคต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม
“แม้โดยปกติหมูที่อยู่ในฟาร์มระบบปิดและมีระบบการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด จะไม่พบการระบาดของ ASF แต่บริษัทก็ไม่ประมาทที่จะยกระดับการป้องกันฟาร์มของบริษัทให้เข้มข้นยิ่งขึ้น รวมถึงฟาร์มของเกษตรกรคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง ที่ขณะนี้สัตวแพทย์ของบริษัทได้ออกให้ความรู้ในการป้องกัน ASF ครบถ้วนแล้ว 100% นอกจากนี้ยังเพิ่มการซ้อมแผนฉุกเฉินในฟาร์มที่มีฟาร์มอื่นๆอยู่ในรัศมีใกล้เคียง เพื่อเตรียมความพร้อมหากพบการระบาด”

ทั้งนี้ ซีพีเอฟมีการแบ่งฟาร์มมาตรฐานของบริษัทและเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.)กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือ ฟาร์มที่ไม่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมี 5 กม. 2.)กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง หรือฟาร์มที่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมี 1-5 กม. 3.)กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ฟาร์มของบริษัทที่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมีน้อยกว่า 1 กม.
การซักซ้อมแผนฉุกเฉินดังกล่าวทำในกลุ่มฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูง โดยจำลองสถานการณ์การเกิดโรคภายในฟาร์ม ฝึกซ้อมขั้นตอนการจัดการโรค ASF อย่างละเอียดทุกขั้นตอน เช่น การสวมชุดของเจ้าหน้าที่ที่รัดกุม การเคลื่อนย้ายสุกรที่เป็นโรคโดยป้องกันสารคัดแหล่งจากตัวสุกรไม่ให้ตกตามรายทางภายในฟาร์ม การจัดการเส้นทางขนย้ายสัตว์ไปยังบ่อฝัง การเผาทำลายเสื้อผ้าของเจ้าหน้าที่หลังเสร็จสิ้นภารกิจ รวมถึงการจัดเตรียมที่พักสำรองสำหรับเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้เห็นภาพจริงในการปฏิบัติ อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือ ASF ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังส่งทีมสัตวแพทย์ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งของบริษัททั่วทุกภูมิภาคครบทั้ง 100% สร้างความมั่นใจในกลุ่มเกษตรกรของบริษัทอย่างเต็มที่ โดยเน้นย้ำในการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติทั้ง 10 ข้อของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด รวมถึงการส่งทีมงานร่วมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยอื่นๆทั่วประเทศ ผ่านการสัมมนา “เกาะติดสถานการณ์ ASF” เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ASF ที่ถูกต้อง ตลอดจนให้ความรู้ด้านมาตรการเฝ้าระวังและการป้องกันโรค เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสกัดกั้นโรคนี้ไม่ให้เข้ามากระทบอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย
นอกเหนือจากการป้องกัน ASF ในระดับฟาร์มแล้ว ซีพีเอฟยังวางมาตรการเข้มที่โรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิต และที่โรงงานชำแหละมาตรฐานซึ่งเป็นปลายน้ำด้วย โดยที่โรงงานอาหารสัตว์ จะลงรายละเอียดการป้องกัน ตั้งแต่ด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ รถขนส่ง ระบบฆ่าเชื้อรถและบุคคลากรก่อนเข้าโรงงาน การแยกพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบออกจากส่วนผลิตและส่วนคลังสินค้า มีโปรแกรมทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อทุกสัปดาห์ รวมถึงการจัดการสัตว์พาหะและป้องกันการปนเปื้อนจากสัตว์พาหะ ซึ่งมีการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในโรงชำแหละมาตรฐานที่บริษัทดำเนินการ100% จะวางมาตรการเพื่อป้องกันการติดเชื้อย้อนกลับไปที่ฟาร์ม และป้องกันเนื้อสุกรไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อ ASF มีการตรวจโรคก่อนเข้าโรงชำแหละ รถขนส่งที่มาส่งสุกรจะมีระบบล้างฆ่าเชื้อและพักโรคก่อนนำกลับไปใช้ มีพนักงานตรวจโรคที่ตรวจสอบทั้งสุกรมีชีวิตก่อนชำแหละและรอยโรคสุกรหลังชำแหละอย่างละเอียด เป็นต้น