ตามที่ สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ได้แก่ มติชนออนไลน์ พาดหัว “นทท.โวย! ปิดถนนเลียบชายหาดตั้งเต็นท์ขายของก่อนเวลากำหนด กรอ.จี้ผู้ว่าฯ ตรวจสอบ จนท.เอี่ยวรับผลประโยชน์” บ้านเมืองออนไลน์ พาดหัว “สั่งรื้อเต็นท์ขายสินค้า ตั้งปิดถนนเลียบหาดประจวบฯ” และทอล์คนิวส์ออนไลน์ พาดหัว “เทศบาลสั่งรื้อเต็นท์ขายสินค้าตั้งปิดถนนเลียบหาดประจวบฯ” เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 โดยข่าวที่เผยแพร่ทั้ง 3 สื่อ มีเนื้อหาเดียวกัน ดังนี้
นายสุทธิพร เที่ยงธรรม ปลัดเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์

“วันที่ 19 ตุลาคม 62 เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งให้ผู้ประกอบการตั้งเต็นท์สีชมพูขายสินค้าหน้าศูนย์การท่องเที่ยวเทศบาลรื้อเต็นท์ออกจากผิวการจราจรบนถนนเลียบชายทะเลด้านหน้าสะพานสราญวิถี เนื่องจากจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการใช้เส้นทางสัญจร ประกอบกับวันหยุดมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ ขณะที่ตำรวจจราจร สภ.เมืองฯ อนุญาตให้ใช้พื้นที่บนถนนเลียบชายทะเลเพื่อวางเต็นท์ ตั้งแต่เวลา 14.30 น.เป็นต้นไป ในช่วงวันศุกร์และวันเสาร์ สำหรับการวางเต็นท์ในจุดดังกล่าวที่ผ่านมีการร้องเรียนเพื่อให้เทศบาลตรวจสอบกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดที่อ้างว่าได้ขอใช้พื้นที่เปิดตลาดคนไทยยิ้มได้เมือหลายปีก่อน ซึ่งยอมรับว่าอยู่นอกพื้นที่ที่เทศบาลจัดตลาดถนนคนเดินจากหน้าสะพานสราญวิถี-หน้า อบจ.ประจวบฯ ที่มีการประกาศแนวเขตไว้อย่างชัดเจนในราชกิจจานุเบกษา สำหรับตลาดคนไทยยิ้มได้หากไม่ได้จัดตั้งเพื่อขายสินค้าโอทอปเพียงอย่างเดียวก็ต้องขออนุญาตจากกองสาธารณสุขฯ ให้ถูกต้อง
ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดร้องเรียนปัญหาเส้นทางจากการเปิดตลาดถนนคนเดิน ตลาดคนไทยยิ้มได้ ซึ่งมีปัญหากับการประกอบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารบริเวณริมถนนเลียบชายทะเลรวมทั้งประชาชนที่จะเดินทางไปพื้นที่ ต.อ่าวน้อย เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ถนนสาธารณะหลังจากผู้ประกอบการนำเต็นท์มาวางบนถนนก่อนเวลาที่กำหนดตั้งแต่ช่วงเช้า ทั้งนี้การประชุม กรอ.ครั้งต่อไปจะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีจัดตลาดบนถนนเลียบชายทะเล ควรมีการจัดระเบียบให้ชัดเจนทั้งการจัดถนนคนเดินมีการดำเนินการเกินขอบเขตที่กำหนดหรือไม่ ส่วนการขยายพื้นที่ของเต็นท์สีชมพู ซึ่งเดิมเมื่อหลายปีก่อนทราบว่าสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ได้ขออนุญาตเปิดตลาดเพื่อขายค้าโอทอปได้รับมอบเต็นท์จากธนาคารออมสิน แต่ปัจจุบันพบว่ามีการดำเนินการประกอบการค้าผิดวัตถุประสงค์และหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานร่วมรับผลประโยชน์กับเจ้าของเต็นท์เช่าหรือไม่”
ข้อเท็จจริงจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แจ้งว่า เดิมตลาดแห่งนี้ เป็นตลาดถนนคนเดินของเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาเมื่อปี 2560 รัฐบาล มีนโยบายให้ดำเนินงานตลาดประชารัฐ เพื่อจัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้าให้แก่ประชาชน ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้กำหนดให้ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้ม นับแต่นั้นมา โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารตลาดและร่วมกับเทศบาล ดำเนินโครงการตลาดประชารัฐ ถนนคนเดิน ริมอ่าวประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ไม่มีสถานที่จำหน่ายสินค้า ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ประกอบการมาจำหน่ายสินค้า รวม 70 บูธ ประกอบด้วย
1) สินค้าโอทอป 5 บูธ คือ โอทอปเทรดเดอร์ กระยาสารทธัญพืช ข้าวโพดคั่ว ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวไทยพฤกษา มะพร้าวแก้ว 2) สินค้าเกษตรปลอดภัย 3 บูธ และ 3) ผู้ประกอบการตามโครงการตลาดประชารัฐ 62 บูธ
สำหรับการขอใช้พื้นที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ขอใช้พื้นที่ร่วมกับเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากตลาดถนนคนเดิน ของเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ และทางสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารตลาดประชารัฐฯ แห่งนี้ ไปกำกับดูแลร่วมกับคณะกรรมการบริหารตลาดถนนคนเดินของเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์
สำนักงานพัฒนาชุมชนประจวบคีรีขันธ์ ขอนำเรียนชี้แจง กรณีข่าวของผู้สื่อข่าวที่พาดพิง การดำเนินงานตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ ริมอ่าวประจวบคีรีขันธ์ ดังนี้
1) กรณีเวลาเปิดและปิดการจำหน่าย ในช่วงสัปดาห์ละ 2 วัน (วันศุกร์ และวันเสาร์) ตั้งแต่เวลา 14.00 – 21.00 น. ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันของตลาดถนนคนเดินของเทศบาลและตลาดประชารัฐฯ ของสำนักงานพัฒนาชุมชนฯ
2) กรณีเต็นท์สีชมพู ที่กล่าวหาว่าสำนักงานพัฒนาชุมชนฯ ได้รับมอบมาจากธนาคารออมสิน นั้น เป็นเต็นท์ที่ผู้ประกอบการและคณะกรรมการบริหารตลาดช่วยกันจัดหามาเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาชุมชนฯ ไม่ได้รับมอบจากธนาคารออมสินแต่อย่างใด
3) กรณีรายได้จากการเช่าเต็นท์ คณะกรรมการบริหารตลาดของเทศบาลและตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ ดำเนินการจัดเก็บตามข้อตกลงของตลาด คือ บูธละ 160 บาท นำส่งเทศบาลตามระเบียบฯ 90 บาท ส่วนอีก 70 บาท คณะกรรมการบริหารตลาด ได้จ่ายเป็นค่ากางเต็นท์ เก็บเต็นท์ ซ่อมเต็นท์(กรณีเต็นท์ชำรุด) ซื้อเต็นท์ใหม่(กรณีเต็นท์พังเสียหาย) โดยไม่มีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
4) กรณีด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดร้องเรียนปัญหาเส้นทางจากการเปิดตลาดถนนคนเดิน นั้น ขอชี้แจงว่า การประชุม กรอ.ประจำเดือนที่ผ่านมา ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ในที่ประชุม และกรณีที่เต็นท์กีดขวางการจราจร ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของเทศบาลและคณะกรรมการบริหารตลาด แจ้งว่า ปกติหลังการจำหน่ายสินค้าแล้วจะนำเต็นท์ขึ้นมาเรียงไว้ที่ฟุตบาท แต่เนื่องจากเมื่อคืนเกิดฝนตก ลมพัดแรง พัดเต็นท์บางส่วนได้รับความเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการบริหารตลาดได้รับการแจ้งข่าวจากทางเทศบาล ก็ได้รีบมาแก้ไขทันที
5) กรณีการขออนุญาตจากกองสาธารณสุขฯ ให้ถูกต้อง ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอและจังหวัด ไม่ได้รับทราบข้อมูล หรือได้รับการประสานงานจากผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ซึ่งหากต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ จะดำเนินการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติให้ถูกต้องโดยด่วน
ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน จักได้กำชับให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทั่วประเทศ ดำเนินการให้การบริหารจัดการตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ตามนโยบายของรัฐบาล เป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวต่อไป