วันที่ 4 มีนาคม 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ผู้นำชุมชน ตลอดจนผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ รวมพลังเอามื้อสามัคคี สร้างวิถีโคก หนอง นา ด้ามขวานทอง ภายใต้แนวคิด “หิ้วปิ่นโต ไปเอามื้อ ถือจอบเสียม พลิกฟื้นแผ่นดิน” ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ใช้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง (สระบุรี ชลบุรี, อุบลราชธานี อุดรธานี, นครราชสีมา, ลำปาง, พิษณุโลก, เพชรบุรี, นครศรีธรรมราช, ยะลา และ นครนายก) เป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ตามรูปแบบแนวทาง “โคกหนองนาโมเดล” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

สำหรับศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราชแห่งนี้ เป็น 1 ใน 11 ศูนย์ฯ ของกรมฯ ที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพราะการทำโคกหนองนานั้น บริบทของแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน หลักสำคัญจริง ๆ ต้องออกแบบตามหลักภูมิสังคม พืชแต่ละชนิดที่ปลูกไม่เหมือนกัน ความต้องการน้ำย่อมไม่เหมือนกัน เราเลยต้องรู้ว่าในพื้นที่ของเรานั้นต้องการอะไร อย่างไร จะใช้หลักที่เหมือนกันทั้งประเทศ เช่น ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่แต่ละพื้นที่ เราก็นำปริมาณน้ำฝนนั้นมาเป็นตัวคำนวณ ต่อไปก็ดูทิศทางแดด ทิศทางลม การวางผังอะไรก็ตามต้องคิดถึงเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดเลย ดังนั้นการขับเคลื่อนโคกหนองนาโมเดล กรมฯ จึงได้ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นำโดย “อาจารย์ยักษ์” ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ หรืออีกบทบาทหนึ่ง คือ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มาช่วยเป็นวิทยากร และพี่เลี้ยงในการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทย “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร” ซึ่งเป็นหนทางรอดในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ผมมั่นใจว่าแม้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะนี้จะร้ายแรงขนาดไหน ประเทศเรารอดได้แน่ หากเราช่วยกันนำกลับไปทำเป็นต้นแบบ พร้อมแบ่งปัน ขยายผลศาสตร์พระราชาของเราไปทั่วโลก เป็นที่พึ่งพาของชาวโลกได้ เนื่องจากช่วยกันรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม

กรมฯ จึงได้กำหนดพื้นที่ดำเนินกิจกรรมเอามื้อสามัคคีขึ้นทุกภูมิภาค เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่สร้างครัวเรือนตัวอย่างที่มีการดำเนินงานตามรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” บริหารจัดการพื้นที่ อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 ครอบครัว สร้างการเรียนรู้ ปรับประยุกต์ใช้รูปแบบดังกล่าวตามภูมิสังคมและภูมินิเวศน์ พื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสมเพิ่มพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น มีการปลูกพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ เพื่อใช้ประกอบอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารของครัวเรือน เช่น ไก่ เป็ด ปลา ในพื้นที่ของตนเอง ยึดหลักการมีส่วนร่วม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดการ “พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” และพัฒนาพื้นที่ของตนเองจนกลายเป็น
ตัวอย่างความสำเร็จขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป” พช. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคน มาร่วมเป็นหนึ่งในการสร้างพลังชุมชน ใช้พลังชุมชนในการพัฒนาชุมชน มาร่วมพลิกฟื้นแผ่นดิน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศชาติใกล้ที่ไหนไปที่นั้น ท่านสามารถดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์กรมกรมการพัฒนาชุมชน www.cdd.go.th หรือสอบถามได้ที่ หมายเลย 0-2141-6254 หรือ 08-9921-3784 และศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และหน่วยงานสังกัดกรมการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ” อธิบดี พช. กล่าว

ด้าน ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล (อ.โก้) คณะบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ร่วมเป็นวิทยากร และให้ความรู้ในงานนี้ ได้เน้นย้ำถึงการทำโครงการโคก หนอง นา โมเดล ว่า มีวิธีโดยการขุดหนองลึกตื้นตามสภาพพื้นที่เลียนแบบธรรมชาติ เช่น น้ำเยอะขุดตื้น เจอตาน้ำให้หยุด พื้นที่ที่ขุดถ้าเจอหินให้หยุด ส่วนพื้นที่แห้งแล้งขุดยิ่งลึกยิ่งดี โดยขุดเป็นชั้นๆ ให้ลึกกว่า 3 เมตร การทำโคกไว้เป็นที่อยู่อาศัยเลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ซึ่งจะใช้ดินที่มาจากการขุดไปถมเป็นโคก และปลูกไม้กิน ไม้ใช้สอย โดยปลูก 5 ระดับ คือ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน และพืชหัว เพื่อรักษาระดับความชุ่มชื้นในดิน มีการกักเก็บน้ำด้วยการขุดคลองไส้ไก่ให้ทั่วพื้นที่ ขุดให้ขดเคี้ยว เพื่อใช้เป็นทางน้ำในดิน เพิ่มความชุ่มชื่นโดยไม่ต้องวางท่อน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำให้น้ำไหลช้าลง และการปลูกหญ้าแฝกและปั้นหัวคันนารอบหนองและคลองไส้ไก่ ให้มีความสูงอย่างน้อย 1 เมตร คันนากว้าง 1 เมตร และทางกว้าง 2 เมตร บนคันนาก็จะมีการปลูกพืชผักโดยรอบ ทั้งผลไม้ ผักสวนครัว และการปั้นหัวคันนาให้สูงนี้ ก็จะเหมือนเขื่อนขนาดย่อมไว้กักเก็บน้ำ และสามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้ด้วย

โอกาสนี้ อธิบดี พช. พร้อมคณะผู้บริหารกรมฯ และพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ ได้ร่วมให้กำลังใจและรับฟังการนำเสนอการออกแบบพื้นที่ของผู้เข้าร่วมโครงการในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ มีการฝึกอบรม 5 วัน เนื้อหาวิชาการ และกิจกรรมในการฝึกอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วย การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย ตามแนวพระราชดำริ
การวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนา ตามแนวพระราชดำริ หลักคิดพื้นฐานการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย ดิน น้ำ ป่า คน และการฝึกปฏิบัติทดลองการจัดทำผลงานออกแบบรายคน และนำเสนอผลงานรายกลุ่ม