เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนในพี้นที่ โอกาสนี้ได้ร่วมพบปะผู้นำชุมชน และชาวบ้านเพื่อสอบถามข้อมูลและรับทราบผลกระทบจากช้างกับชาวบ้าน ณ พื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว จังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ปัญหาระหว่างคนกับช้างในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีมีมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ข้าวโพด และพืชอื่นๆ ที่เป็นอาหารช้าง โดยช้างจะออกจากป่ามากินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเกิดความเสียหายมูลค่าหลายล้านบาท

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ตามคำสั่งคณะกรรมการดำเนินงานการจัดการปัญหาเพื่อการร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้าง โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล ได้ร่วมเป็นคณะทำงานในการจัดการปัญหาคนกับช้างเพื่อให้เกิดความสมดุล และอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีปัญหา เช่น ปลูกพืชที่ช้างไม่กิน การปลูกต้นไม้เป็นแนวกันช้าง เพื่อป้องกันช้างเข้ามาทำลายพืชผักสวนครัวของชาวบ้าน

โดยมอบหมายให้พัฒนาการจังหวัด และทีมงาน พช. ร่วมดำเนินการในพื้นที่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน ด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์ และแนะนำชาวบ้านทำอาชีพเสริมนอกจากการปลูกพืช ผัก ผลไม้ เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่ง เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลไม้ การจักสาน และอาชีพอื่นๆ ที่สามารใช้วัสดุในพื้นที่ โดยเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

อธิบดี พช.กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “หมู่บ้านคนรักษ์ช้าง” มุ่งหวังที่จะป้องกัน แก้ไขปัญหาช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 183 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 5 จังหวัดป่ารอยต่อภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และจังหวัดสระแก้ว เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนภารกิจตามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือโครงการฟื้นฟูแหล่งอาหารช้างป่าพื้นที่ป่าตะวันออก โดยการสร้างองค์ความรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างในระดับหมู่บ้าน ท่านจะได้เข้าใจพฤติกรรมของช้าง การปฏิบัติต่อช้าง การลดปัญหาความขัดแย้งกับช้าง ซึ่งผู้นำหมู่บ้านที่ประสบปัญหาจากช้างป่า จะได้นำองค์ความรู้นั้นไปขยายผลต่อในระดับหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาตามที่คณะทำงานพัฒนาชุมชนมุ่งหวังให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้จักช้าง เข้าใจช้าง รักษ์ช้าง และสามารถอยู่ร่วมกันกับช้างได้อย่างสมดุลโดยแท้จริง