วันนี้ (25 ต.ค. 62) เวลา 12.30 น. ที่บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ

นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.)

เป็นประธานการแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 22 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ
นายปรเมธี กล่าวว่า ปี 2562 เป็นปีที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ภายใต้แนวคิดหลัก “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 เป็นวาระแห่งชาติ โดยคนไทยทุกคนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมกันเป็นเจ้าบ้านและเจ้าภาพที่ดีในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากทั่วทั้งอาเซียน การเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 นอกเหนือจากการเป็นเจ้าภาพ การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 และครั้งที่ 35 ซึ่งผู้นำของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุมแล้ว ยังรวมถึงการจัดการประชุมต่างๆ ในแต่ละประชาคมอาเซียน ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ทั้งนี้ จะมีการประชุมอาเซียนในระดับต่างๆ
ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ตลอดปี 2562 จำนวนกว่า 280 รายการ

นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนงานหลักการดำเนินงานของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ภายใต้
การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทย ในปี 2562 ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานประสานงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จาก 15 สาขาความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้แนวคิดหลักการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น ได้ร่วมกันวางกรอบการดำเนินงาน “3/4/14” กล่าวคือ
3 แนวทางหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยงภาคประชาชน (People-to-People Connectivity) และหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnerships) ความยั่งยืน (Sustainability) การเตรียมความพร้อมและวางแผนด้านความมั่นคงของมนุษย์สำหรับอนาคต (Future-Oriented Actions for Human Security) โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือ การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก การจัดการกับปัญหาขยะทะเลและการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ข้อริเริ่ม “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562” ภายใต้แนวคิด “หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน” เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสานจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของอาเซียน เป็นต้น

4 ศูนย์อาเซียนที่จะมีการจัดตั้งหรือปรับปรุงพัฒนา ได้แก่ 1) คลังสิ่งของช่วยเหลือและระบบโลจิสติกส์เพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียน ตั้งอยู่ ณ จังหวัดชัยนาท ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 2) ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดตัวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยในปีนี้จะเน้นการพัฒนาพื้นที่จัดแสดงและนิทรรศการรวมถึงการนำวัฒนธรรมอาเซียนไปสัญจรและเผยแพร่ยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
3) ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ตั้งอยู่ ณ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ 4) ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม ตั้งอยู่ ณ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีสำนักงานประสานงานอยู่ที่ชั้น 2 ของกระทรวง พม.
และ 14 เอกสารผลลัพธ์สำคัญ โดยจำแนกเป็นเอกสารผลลัพธ์สำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34
ที่ผ่านมาแล้วจำนวน 5 ฉบับ และสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่กำลังจะถึงนี้ อีก 9 ฉบับ

นายปรเมธี กล่าวต่ออีกว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 22 เป็นเวทีสำคัญเพื่อพิจารณาและให้การเห็นชอบต่อแผนงานและเอกสารผลลัพธ์สำคัญภายใต้เสาสังคมและวัฒนธรรม ก่อนจะนำเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งมีรายละเอียดการประชุมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 27 กำหนดจัดขึ้น
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ
2) กิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC@30) และการเปิดตัวรายงานเรื่อง “เด็กในอาเซียน เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยกระทรวง พม. เป็นเจ้าภาพร่วมกับยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ
และ 3) การประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 22 (22nd ASCC Council Meeting) ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน รวมทั้ง ผู้แทนจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบ 15 สาขาความร่วมมือภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และแขกผู้มีเกียรติอื่นๆ กว่า 200 คน

“การเป็นประธานอาเซียนและการจัดประชุมอาเซียนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตลอดปี 2562 จะก่อให้เกิดประโยชน์
ต่อประเทศไทยและคนไทยในหลายด้าน สำหรับในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านราชการพลเรือน ด้านการศึกษา
ด้านแรงงาน และด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา อันเป็นผลจากการนำเอกสารผลลัพธ์สำคัญ ซึ่งผู้นำอาเซียนให้การรับรองและรับทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ไปสู่การปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ สังคมไทยและคนไทย จะได้รับประโยชน์โดยตรงด้านรายได้ และการส่งเสริมการท่องเที่ยว จากการที่ผู้นำประเทศ คณะผู้แทน สื่อสารมวลชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
จากประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวนมากที่เดินทางมายังประเทศไทย อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียนผ่านการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมและการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ” นายปรเมธี กล่าวในตอนท้าย