วันนี้ (29 พ.ย. 62) เวลา 10.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดศ.) ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและยกระดับการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมายระหว่างกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง
ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ

นายจุติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาสังคม สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัว และชุมชน โดยมีภารกิจ
ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม คือการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรีและครอบครัวที่ประสบปัญหาทางสังคม
ซึ่งดำเนินการโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาศักยภาพสตรีในทุกด้าน ส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดจำนวน 8 แห่ง ที่ตั้งอยู่ตามภูมิภาค คือ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ทำหน้าที่เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพสตรี การฝึกอบรมอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ขาดโอกาสทางสังคม ให้มีทักษะอาชีพช่วยเหลือตนเองและเลี้ยงดูครอบครัวได้ ซึ่งมีการดำเนินงานฝึกอาชีพใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) การฝึกอบรมอาชีพในสถาบัน เมื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพสำเร็จตามหลักสูตรแล้ว จะจัดหางานให้ทั้งในลักษณะประกอบอาชีพตนเอง หรือเป็นพนักงานของบริษัท ที่ผ่านมามีผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพภายในสถาบัน มีงานทำกว่าปีละ 15,000 รายต่อปี และ 2) การฝึกอบรมกลุ่มอาชีพในชุมชน เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มประกอบอาชีพในชุมชน ให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพ ส่งเสริมโอกาสการทำธุรกิจสตรี มุ่งสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ปีละกว่า 140 กลุ่มต่อปี

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน สังคมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวในการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้ กระทรวง พม. จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงดิจิทัล
เพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและยกระดับการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ระหว่างกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อร่วมกันยกระดับการฝึกอาชีพให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริม และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทักษะความชำนาญของแต่ละหน่วยงานที่ร่วมลงนาม ซึ่งจะช่วยสนับสนุน สค. ตามภารกิจของตนเอง อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะสนับสนุนข้อมูลเพื่อการวางแผนการจัดฝึกอบรมให้สอดคล้อง
กับความต้องการของตลาดแรงงาน ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมให้เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายให้ทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ กรมการจัดหางานจะช่วยสนับสนุนในการส่งเสริมการมีงานทำแก่กลุ่มเป้าหมาย โดยการให้บริการจัดหางาน การแนะแนวอาชีพ
การประกอบอาชีพ และการรับงานไปทำที่บ้าน

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จะช่วยสนับสนุน
การฝึกอบรม พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้มีความรู้และสามารถต่อยอดประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นช่องทางในการทำธุรกิจการค้าสำหรับตนเองหรือกลุ่มอาชีพ สนับสนุนการทำธุรกิจด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระดับชุมชน (Village E – Commerce) ภายใต้ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ส่งเสริมสินค้าชุมชนการตลาดออนไลน์ โดย village E – Commerce หรือส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จะช่วยสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพทางด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้สื่อออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างรายได้ ส่งเสริมการใช้มาตรฐานทางด้านความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกลุ่มอาชีพ ทั้งนี้ กระทรวง พม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น