วันนี้ (5 มี.ค. 62) เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายอภิชาติ อภิชาตบุตร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ 12/2562 เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน พร้อมร่วมหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อีกทั้งเป็นการประชุมทางไกลผ่านระบบ VDO Conference ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ในพื้นที่ทั่วประเทศ
นายอภิชาติ กล่าวว่า จากกรณีหญิงชราวัย 92 ปี สายตาฝ้าฟางและหูตึง อาศัยอยู่เพียงลำพังในบ้านสภาพเก่าทรุดโทรมใกล้ผุพัง ไม่มีไฟฟ้า และไม่มีห้องน้ำใช้ ที่จังหวัดสุรินทร์ นั้น ได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุรินทร์ (พมจ.สุรินทร์) พร้อมทีม พม. One Home ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินทางสังคม พร้อมให้การช่วยเหลือตามภารกิจด้านผู้สูงอายุของกระทรวง พม. ด้วยการมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและเงินสงเคราะห์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ช่วยเหลือดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเรื่องการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้มั่นคง และถูกสุขลักษณะ เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุนอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาแนะนำในการขอรับสิทธิสวัสดิการที่พึงได้รับตามกฎหมาย และการดูแลช่วยเหลือในระยะยาวต่อไป
นายอภิชาติ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมชายวัย 63 ปี ที่ก่อเหตุข่มขืนกระทำชำเราหญิงชราวัย 94 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกัน และมีอาการหลงๆลืมๆ ทั้งยังมีพฤติกรรมชอบพาตัวหญิงชราออกไปนอกบ้านบ่อยครั้ง ที่จังหวัดพัทลุง และกรณีหญิงชราวัย 72 ปี ถูกชายชาวพม่าวัย 37 ปี ก่อเหตุข่มขืนกระทำชำเรา และทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม ด้านชายชราวัย 72 ปี ซึ่งเป็นสามีผู้เสียชีวิต ยังรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอยู่ในอาการซึมเศร้า ที่จังหวัดชุมพร นั้น ได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั้ง 2 จังหวัด ได้แก่ พมจ.พัทลุง และ พมจ.ชุมพร พร้อมทีม พม. One Home ทั้ง 2 จังหวัด ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจของกระทรวง พม. โดยเร่งเยียวยาสภาพจิตใจหญิงชราและครอบครัวผู้เสียหายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก