สืบเนื่องจากวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 เวลา 19.00 น. ได้มีการเผยแพร่ข่าวทางอินเทอร์เน็ต ในประเด็น “พบปัญหาการแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไขและยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด” นั้น

ในการนี้ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงขอชี้แจงข้อมูลการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติให้ทราบ ดังนี้

 

การจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวด้านผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วย 13 กระทรวงหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 หน่วยงาน โดยแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 มีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีหลักประกันที่มั่นคง สร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุประชากรทุกวัยให้ความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเพื่อการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพประกอบกับให้ประชาชน ครอบครัว ชุมชน องค์กรภาครัฐ และเอกชน เข้ามีส่วนร่วมในพัฒนาผู้สูงอายุ และเพื่อให้มีกรอบและแนวทาง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การบูรณาการงานด้านผู้สูงอายุ

สำหรับการขับเคลื่อนงานภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 การขับเคลื่อนงานภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 มีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เป็นผู้กำกับและติดตาม โดยมอบหมายให้อนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามยุทธศาสตร์ตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) เป็นผู้ดำเนินการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันให้หน่วยงานดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลัก และในปีพ.ศ. 2560 ได้มีการติดตามและประเมินผลแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ในระยะที่ 3 พ.ศ. 2555 – 2559 โดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจากผลการประเมินแผนในครั้งนี้ได้เสนอแนะให้ประเด็นสังคมสูงอายุควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย เพิ่งส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต

ซึ่งจากข้อเสนอดังกล่าวคณะรัฐมนตรี จึงได้พิจารณาประกาศระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 รัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้ประกาศการขับเคลื่อนสังคมสูงอายุ
เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย 6 ความยั่งยืน (sustainable) 4 การเปลี่ยนแปลง(change) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 6 กระทรวงหลักร่วมกันขับเคลื่อน

ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ มีเป้าหมายเพื่อมุ่งให้ผู้สูงอายุไทยเป็นพฤฒิพลัง (Active Ageing) : ประกอบด้วย การมีสุขภาพดี (Healthy) มีความมั่นคง (Security) และมีส่วนร่วมสังคม (Participation)

ในส่วนของกรมกิจการผู้สูงอายุ ได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2561 สู่การปฏิบัติ เมื่อวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2562
ณ โรงแรมอิสติน มักกะสัน กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545 – 2564 และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประกอบการทำแผนปฏิบัติการระยะกลางของส่วนราชการในช่วงระหว่างกรอบ 3 ปี คือ พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุของประเทศแบบมีส่วนร่วมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์
ในปีพ.ศ. 2564 ในระยะต่อไปกรมกิจการผู้สูงอายุ มีแผนในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแปลงแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เพื่อจัดทำแผนระดับจังหวัดทุกจังหวัด ให้ให้สอดคล้องกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2565 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งเตรียมจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3
(พ.ศ. 2566 – 2580) ให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดกับผู้สูงอายุ