ห้องปฏิบัติการทางเคมี วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับการรับรองห้องปฏิบัติการต้นแบบด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ระดับ “ดีมาก” จากโครงการมหาวิทยาลัยแม่ขายด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ปี 2562: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.พิชญา โพธินุช อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอาหาร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดโครงการยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย (Enhancement of Safety Practice of Research Laboratory in Thailand : ESPReL) โดยเน้นเรื่องของสภาพความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการเคมี ซึ่งเราในฐานะอาจารย์ผู้สอนในห้องปฏิบัติการเห็นว่าโครงการนี้มีความจำเป็นและจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อห้องปฏิบัติการทางเคมีของวิทยาลัยฯ โดยการใช้งานทั่วไปของห้องปฏิบัติการทางเคมีของวิทยาลัยฯ จะเน้นการเรียนการสอนภาคปฏิบัติและการทำงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาเป็นหลัก ดังนั้น ความปลอดภัยของผู้ใช้ห้องปฏิบัติการจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นที่ต้องคำนึงถึง ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังครอบคลุมในส่วนของการรักษาความปลอดภัยที่มีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทางวิทยาลัยฯ ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ ESPReL Checklist โดยโปรแกรมดังกล่าวมีข้อมูลในการปฏิบัติ ทั้งหมด 7 ด้าน เราก็จะมาตรวจสอบว่าห้องปฏิบัติการทางเคมีของเรามีการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ระบุไว้หรือไม่ หรือยังต้องปรับปรุงในเรื่องใด จากนั้นก็จะนำเอาข้อควรปฏิบัติมาปรับใช้ให้เหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยมหาวิทยาลัยรังสิตนั้นจะมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแม่ข่าย และเราได้เข้าร่วมเป็นรุ่นที่ 1 ของโครงการนี้

ด้าน นางสาวเหมือนฝัน เชียงกา เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ กล่าวเสริมว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการ จึงเข้าไปเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติต่างๆ และได้นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับห้องปฏิบัติการของวิทยาลัยฯ เช่น เริ่มจากการคัดแยกสารเคมีที่หมดอายุ ติดฉลากสารเคมีที่ใช้ ระบุประเภทความอันตรายของสารเคมีและแสดงสัญลักษณ์อันตราย จัดเรียงสารเคมีตามรหัส รวบรวมข้อมูล SDS (Safety Data Sheets) โดยจัดทำแฟ้มเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ทั้งนี้ในกรณีที่นักศึกษาได้รับอันตรายจากสารเคมี เราจะทราบวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นว่าต้องทำอย่างไร การคัดแยกขยะทั่วไปกับขยะปนเปื้อนสารเคมีหรือขยะอันตราย เป็นต้น เพื่อให้ง่ายต่อการนำขยะไปกำจัดในลำดับต่อไป นอกจากนี้ ต้องมีการระบุชนิดของขยะอันตรายหรือของเสียว่าเป็นประเภทใด เพื่อให้บริษัทรับกำจัดขยะและของเสียอันตรายนำไปกำจัดได้อย่างถูกต้องต่อไป

ผศ.กิ่งกมล ลีลาจารุวรณ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอาหาร กล่าวต่อว่า หลังจากที่ห้องปฏิบัติการฯ ผ่านการรับรอง ห้องปฏิบัติการต้นแบบด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ระดับ “ดีมาก” ซึ่งถือเป็นความปลอดภัยในระดับสากล ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าทั้งอาจารย์และนักศึกษาที่เข้ามาใช้ห้องปฏิบัติการ จะตระหนักและคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้สารเคมีมากยิ่งขึ้น เช่น สารเคมีบางชนิดมีคุณสมบัติไวไฟ บางชนิดมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งนักศึกษาทุกคนก่อนใช้ห้องปฏิบัติการ ต้องรู้กฎในการใช้ห้องปฏิบัติการก่อน เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจากการใช้สารเคมีขึ้นมา อย่างน้อยนักศึกษาจะต้องมีสติและสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย